เศรษฐศาสตร์ จุฬา มองเงินเฟ้อยังไม่จบ แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยต่อ

ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์มหภาคเผยเศรษฐกิจไทยใกล้เข้าสู่สภาวะปกติแบงก์ชาติถอนคันเร่งนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอาจปรับดอกเบี้ยอีกครั้งปีนี้คุมเงินเฟ้อจากเอลนิโญตั้งรัฐบาลล่าช้าไม่น่าห่วงเท่าประท้วงทำท่องเที่ยวสะดุดฉุดเศรษฐกิจโต

ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เมื่อวานนี้ (2 สิงหาคม 2566) เป็นไปตามที่แบงก์ชาติพยายามสื่อสารมาโดยตลอด แม้คนทั่วไปอาจไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวตามที่แบงก์ชาติประเมินไว้ แต่การขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ระดับปกติ (Normalization Process) จากช่วงโควิดที่ผ่านมา ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในช่วงต่ำกว่าระดับปกติ ซึ่งการสื่อสารของแบงก์ชาติรอบนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า อยู่ในจุดที่ใกล้จบดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว

“เราไม่ได้เหยียบเบรกเหมือนเฟด แต่เรากำลังถอนคันเร่งจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายตั้งแต่ยุคโควิด เพราะเศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวช้ากว่าหลายประเทศ ต่างจากกรณีของสหรัฐอเมริกาที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วมากจนตึงตัว ต้องแตะเบรก”

ดอกเบี้ยแพงไปหรือยัง?

หน้าที่หลักของนโยบายการเงินคือ การรักษากำลังซื้อของคนในระบบเศรษฐกิจ ธนาคารกลางทั่วโลกจึงมุ่งเป้าไปที่การควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย แม้แต่ธนาคารกลางสหรัฐที่ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ระดับ 0.25% จนถึง 5.25% โดยยอมรับความเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจถึงขั้นถดถอย เพราะไม่อยากให้ของแพงจนเกินไป เมื่อเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงมาก การขึ้นดอกเบี้ยจึงต้องใช้ยาแรงตาม 

“ในกรณีของไทย ดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% นิด ๆ เทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ 3.6-3.8% ยังถือว่าไม่สูง เปรียบเสมือนคนที่มีรายได้โตตาม GDP ส่วนดอกเบี้ยไม่ได้สูงเกินรายได้ แต่ปัญหาของบ้านเราคือ ภาคครัวเรือนมีหนี้พอกพูนมาก่อนแล้ว พออยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ภาระหนี้ก็สูงขึ้นตาม”

ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาระดับโครงสร้าง ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะจุดในการดูแล เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ หรือการขอความร่วมมือจากเจ้าหนี้ ดังนั้น การใช้นโยบายการเงินผ่านการปรับอัตราดอกเบี้ยจึงไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย หากดอกเบี้ยถูกไป ยิ่งจูงใจให้คนกู้เยอะขึ้น อาจนำไปสู่วิกฤติในระยะยาวได้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นเครื่องมือในการดูแลเศรษฐกิจมหภาค จึงกำลังทำหน้าที่อย่างเหมาะสมแล้วในการรักษาเสถียรภาพด้วยการทำให้เงินเฟ้อปรับให้เข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน

มีโอกาสขึ้นต่ออีก 1 ครั้ง

นักเศรษฐศาสตร์ รั้วจุฬา แสดงความเห็นว่า แบงก์ชาติยังมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 1 ครั้งในปีนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะไปจบที่ 2.5% สาเหตุหลักมาจากความเสี่ยงของเงินเฟ้อ แม้ที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อจะต่ำเนื่องจากฐานที่สูงในปีที่แล้ว แต่ปัจจัยเสี่ยงในภายภาคหน้ายังไม่จบ โดยเฉพาะปรากฏการณ์เอลนีโญ อาจส่งผลต่อเงินเฟ้อพื้นฐานในส่วนของอาหารได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ แบงก์ชาติยังส่งสัญญาณที่ระบุว่า “ต้องการรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง”  จึงอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยไว้ก่อนในยามที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง เพื่อให้มีพื้นที่ (Policy Space) ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตามคาด ก็อาจทำให้แบงก์ชาติพิจารณาหยุดขึ้นดอกเบี้ย โดยตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเป็นหลักในปีนี้คือ ภาคท่องเที่ยว แม้จะมีตัวเลขคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้นกว่าปีที่แล้วแต่ยอดการใช้จ่ายต่อหัวกลับลดลง ในขณะที่ภาคส่งออกยังถูกกดดันจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก หลังจากผ่านไปครึ่งปี พบว่าเศรษฐกิจสหรัฐแย่น้อยกว่าที่ตลาดคาด ตรงกันข้ามกับตัวเลขเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวน้อยกว่าที่คาด จนกระทั่งธนาคารกลางของจีนจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยลง และรัฐบาลจีนกำลังถูกกดดันให้อัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม 

เศรษฐกิจไทยกำลังโตไม่ว่าจัดตั้งรัฐบาลช้าหรือเร็ว

ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตว่า คนอาจจะกังวลเรื่องระยะเวลาการจัดตั้งรัฐบาลมากเกินไป การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าไม่ว่าจะ 3 หรือ 6 เดือน อาจส่งผลต่องบลงทุนภาครัฐอยู่บ้าง แต่ก็ถือเป็นส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับจีดีพี การเบิกจ่ายตามปกติยังคงทำได้  การลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนมีผลต่อเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งเห็นสัญญาณแล้วว่าตัวเลขดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ เรื่องจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าหรือการทะเลาะกันในสภายังไม่น่าห่วงเท่ากับความรุนแรงนอกสภา การประท้วงที่นำไปสู่การสร้างบรรยากาศตึงเครียดบนท้องถนน จะกระทบกับภาคท่องเที่ยวโดยตรง และอาจฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้

“ถามคนทั่วไปก็รู้อยู่แล้วว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่คงจะตามมา ไม่ว่าจะเป็นแจกเงิน ขึ้นค่าแรง เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาก็จะอัดฉีดด้านการคลังเพื่อให้เห็นว่าได้เริ่มลงมือทำงาน เป็นจังหวะเดียวกับที่นโยบายทางการเงินกำลังลดการผ่อนคลาย ให้เศรษฐกิจไทยกลับสู่สภาวะปกติ”

LATEST NEWS

SCB CIO มอง 3 ปัจจัยเสี่ยงทำโลกผันผวน แนะลงทุนแบบ Stay Invested จัดพอร์ตรอรับผลเลือกตั้งสหรัฐฯ

SCB CIO แนะจับตา 3 ปัจจัยหลักทำตลาดการเงินผันผวนในเดือนตุลาคมนี้ มองตลาดหุ้นสหรัฐมีโอกาสปรับฐาน ช่วงก่อนการเลือกตั้ง และมีแนวโน้มปรับขึ้นหลังทราบผลการเลือกตั้ง แนะใช้กลยุทธ์ Stay Invested หาจังหวะลงทุน

GC เชิญร่วมงาน GC Sustainable Living Symposium 2024 ตอกย้ำ “ยั่งยืนไม่ยาก” Hybrid Event รวมพลคนหัวใจยั่งยืนเสวนาและนิทรรศการ 18 ตุลาคม 2567 นี้

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ขอเชิญคนหัวใจรักษ์โลก (GEN S: Generation Sustainability) ทุกวัย ทุกอาชีพ มาร่วมกันหาคำตอบของการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนในงาน GC Sustainable Living Symposium 2024: GEN S GATHERING ในรูปแบบ Hybrid Event ทั้ง On Ground และ Online ภายใต้แนวคิด “ยั่งยืนไม่ยาก”  พบกับการเสวนาเปิดมุมมองธุรกิจสู่ความยั่งยืนอย่างรอบด้านและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมาย Net Zero โดยผู้นำจากทุกภาคส่วน ชมนิทรรศการนวัตกรรมที่คิดเพื่อโลก และแลกเปลี่ยนไอเดียสร้างสรรค์จุดแรงบันดาลใจกู้โลกเดือด เป็นประโยชน์สำหรับทั้งภาคธุรกิจและการใช้ชีวิตที่จะทำให้เรื่องของความยั่งยืนไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป ที่พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน ในวันที่ 18 ตุลาคม 2567 นี้

RELATED