,

ประสบการณ์แบงก์รัน-แบงก์ล้ม – ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

สัปดาห์ก่อนดูเหมือนว่าคนในแวดวงเศรษฐกิจและการลงทุนต่างก็วุ่นวายสับสนกันทั่วโลกเนื่องจากการล่มสลายของธนาคาร SVB หรือ Silicon Valley Bank ซึ่งเป็นแบงก์ขนาดใหญ่ที่ให้บริการแก่บริษัทสตาร์ทอัพและดิจิทัลในคาลิฟอร์เนีย และอีกหลายแบงก์ที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจนี้

นอกจากนั้น ก่อนสิ้นสัปดาห์ แบงก์เครดิตสวิสซึ่งเป็นแบงก์ใหญ่ “ระดับโลก” ของสวิตเซอร์แลนด์ก็เริ่มมีปัญหาในเรื่องของทุนที่ไม่เพียงพอเพราะธนาคารมีผลประกอบการขาดทุนหนักและผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นกองทุนจากประเทศตะวันออกกลางปฎิเสธที่จะเพิ่มทุน ทำให้ราคาหุ้นที่ตกต่ำอยู่แล้ว ตกลงไปอีกหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะคนกลัวว่าแบงก์อาจจะต้องล้มในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของทั้งสหรัฐและสวิตเซอร์แลนด์ดูเหมือนว่าจะรีบเข้าแทรกแซงและช่วยเหลือทันทีจนทำให้สถานการณ์ไม่ลุกลามรุนแรงต่อเนื่องไปถึงธนาคารอื่นอย่างเป็นระบบ เฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารกลางของอเมริกาได้ประกาศค้ำประกันเงินฝากทั้งหมดของ SVB ซึ่งทำให้เกิดความมั่นใจต่อผู้ฝากเงินทั่วไปว่า เงินฝากของตนเองในแบงก์และแบงก์อื่นจะไม่หายไป ไม่จำเป็นต้องไปถอนเงินออกพร้อม ๆ กันซึ่งจะทำให้เกิด “Bank Run” ซึ่งธนาคารจะมีเงินไม่พอให้ถอนและต้องล้มละลายทันที ส่วนของสวิสเอง แบงก์ชาติก็จัดหาเงินเป็นสภาพคล่องหลายหมื่นล้านเหรียญให้ในกรณีที่มีคนขอถอนเงินจำนวนมาก

ถึงวันนี้เอง ก็ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าเหตุการณ์แบงก์รันและแบงก์ล้มที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในอเมริกาและยุโรปนั้นจบลงไปแล้ว ยังมีโอกาสเหมือนกันที่แบงก์จะล้มเหลวต่อไปต่อเนื่องเป็นระบบโดยเฉพาะในยุโรปที่แบงก์เครดิตสวิสมีขนาดใหญ่มากและเป็น “แบงก์หลัก” ที่การแก้ปัญหาอาจจะทำได้ยากกว่าและผลกระทบรุนแรงกว่า ซึ่งถ้ามันส่งผลต่อเนื่องไปยังแบงก์อื่นก็อาจจะทำให้เกิด “วิกฤติ” ทางการเงินขึ้นได้

นั่นทำให้ผมหวนนึกถึงวันที่ผมยังทำงานอยู่ในฐานะผู้บริหารสถาบันการเงินแห่งหนึ่งของไทยในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ที่สถาบันการเงินหรือแบงก์ที่รวมถึงบริษัทที่ผมอยู่ด้วย ประสบปัญหาและเกิด “Bank Run” อย่างเป็นระบบ และจบลงด้วยการ “ล้ม” ของสถาบันการเงินกว่า 50 แห่งแทบจะพร้อมกันทันที เหลือเพียง 2-3 แห่งที่รอดมาได้อย่างน่าอัศจรรย์

ปัญหาและผลกระทบที่ตามมาของแบงก์หรือสถาบันการเงินที่รับเงินฝากหรือกู้เงินจากคนอื่นเพื่อมาปล่อยต่อหรือลงทุนกินส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยหรือต้นทุนกับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยหรือจากการลงทุนในหุ้นหรือตราสารการเงินเช่นพันธบัตรก็คือ เกิดความผิดพลาดหรือการฉ้อฉลในการทำงาน เช่น ปล่อยกู้ให้กับบริษัทหรือโครงการที่ไม่คุ้มค่า ลงทุนในทรัพย์สินหรือหุ้นที่มีราคาแพงเกินไปซึ่งในที่สุดก็ตกลงมาทำให้ขาดทุนมหาศาล ทั้งสองอย่างนั้นมักจะเกิดขึ้นในยามที่เกิดความเฟื่องฟูของการลงทุนในกิจการธุรกิจ หรือความเฟื่องฟูของราคาหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นรวมถึงที่ดินและอสังหาริมทรัพย์

ในกรณีของเหตุการณ์ในช่วงนี้ก็คือ ความเฟื่องฟูของธุรกิจสตาร์ทอัพ ดิจิทัล เหรียญต่าง ๆ เช่นบิทคอยน์ เป็นต้น ซึ่งก็มีแบงก์จำนวนหนึ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้องโดยการให้กู้หรือลงทุนจำนวนมาก โดย SVB ก็ถือได้ว่าเป็นแบงก์ที่เน้นในกลุ่มสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ ให้บริการที่หลากหลายรวมถึงการเป็นผู้รับฝากเงินของบริษัทเหล่านั้นด้วย

ส่วนเครดิตสวิสเองนั้น เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับเฮดจ์ฟันด์ Archegos Capital ซึ่งเป็นกองทุนที่เล่นหุ้นแบบร้อนแรงใช้มาร์จินและอาจจะมีการใช้ข้อมูลภายในและปั่นหุ้นด้วย ซึ่งทำให้มีผลงานโดดเด่น มีชื่อเสียงและได้เงินจากนักลงทุนมหาศาล แต่สุดท้ายก็พัง กองทุนล่มสลายและเครดิตสวิสสูญเงินไปเกือบ 5 พันล้านเหรียญหรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท

ในกรณีของไทยในช่วงก่อนปี 2540 ก็คือความเฟื่องฟูของอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่นโรงงานเหล็กและการผลิตอื่น ๆ ในยามที่ไทยกำลังเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่และจะเป็น “เสือ” แห่งเอเชีย และตลาดหุ้นที่กำลังคึกคักโดยมี “บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์” ซึ่งทำหน้าที่เหมือนแบงก์แต่มีขนาดเล็กกว่าและกล้าเสี่ยงมากกว่า เข้าไปให้บริการรวมถึงการร่วมลงทุนในความเฟื่องฟูนั้น ซึ่งก็เช่นเคยและเกิดขึ้นเสมอก็คือ ในที่สุด “ฟองสบู่” ก็ “แตก” บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มีผลประกอบการขาดทุนอย่างหนัก บริษัทที่ร้อนแรงที่สุดและเป็น “ราชัน” ของวงการคือ “ฟินวัน” ล่มสลายก่อน หลังจากนั้นบริษัทอื่นก็ตามกันมาจนล่มสลายเกือบทั้งหมด

ความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้แบงก์ล้มง่ายก็คือ ลักษณะธรรมชาติของกิจการที่มีหนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินฝากนั้น มีปริมาณมากกว่าทุนของตนเองหลายเท่า บางทีเป็น 10 เท่า ดังนั้น ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจรุนแรงและกระทบกับแบงก์รุนแรง เช่น ดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นเร็วมากและทำให้ส่วนต่างรายได้และต้นทุนเปลี่ยนเป็นติดลบ ก็อาจจะทำให้เกิดขาดทุน เช่น 10% ของทรัพย์สิน ก็จะทำให้เงินทุนที่มีเพียง 10% หายไปทั้งหมดได้

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ หนี้สินของธนาคารส่วนใหญ่จะเป็นระยะสั้นและมีเจ้าหนี้จำนวนมากบางทีเป็นล้าน ๆ คนที่ฝากเงิน ในขณะที่ทรัพย์สินที่ปล่อยกู้หรือลงทุนนั้นมักจะเป็นระยะยาวซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่ถ้าวันไหนเจ้าหนี้ “ขาดความมั่นใจ” ว่ากิจการของบริษัทหรือธนาคารอาจจะเลวร้ายและล้มละลายในอนาคต พวกเขาก็จะถอนเงินและไม่ต่ออายุหนี้จำนวนมากที่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งแบงก์ก็จะไม่มีเงินสดพอและก็ต้องล้มละลายทันทีและนี่ก็คือ “แบงก์รัน”

ข้อสรุปของธุรกิจแบงก์ก็คือ แบงก์ที่ “ซ่า” หรือ “กล้ามาก” โตเร็วมากและอาจจะกำไรดี แต่ทุนอาจจะ “ไม่ค่อยพอ” อาจจะเพราะโตเร็วเกินไป มีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจหรือธุรกิจเปลี่ยน ทำให้ความเชื่อมั่นของคนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะคนฝากเงินหรือเจ้าหนี้หมดไป ซึ่งจะทำให้พวกเขาเริ่มถอนเงินและก่อให้เกิดแบงก์รัน และสุดท้ายในเวลาอันสั้นมากเป็นแค่หลักไม่กี่วัน แบงก์ก็ล้มถ้าไม่มีรัฐบาลหรือคนอื่นที่ใหญ่และแข็งแรงพอเข้ามาช่วย

ประสบการณ์ของผมในช่วงที่บริษัทเงินทุนล้มก็คือ บริษัทปล่อยกู้ให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากรวมถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่เช่นโรงงานเหล็ก โดยที่บริษัทเงินทุนหลายบริษัทร่วมกันปล่อยกู้แบบซินดิเคทโลน แต่แล้ว ภาคธุรกิจเหล่านั้นก็เกิดปัญหา ส่วนหนึ่งก็ตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่กำลังถดถอยลง การส่งออกลดลงและสุดท้ายประเทศต้องแก้ปัญหาลอยตัวอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งทำให้หนี้ของบริษัทต่าง ๆ เพิ่มขึ้นและไม่สามารถจ่ายคืนหนี้แบงก์ได้ กลายเป็นหนี้เสียซึ่งทำให้แบงก์มีปัญหา

ข่าวนี้ทำให้บริษัทเงินทุนถูกถอนเงินและไม่ต่ออายุเงินหนี้เงินกู้ บริษัทเงินทุนที่อ่อนแอและไม่มีแบงก์เป็นบริษัทแม่หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ “ล้ม”ก่อน บริษัทที่ผมอยู่เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นแบงก์ก็ยังพออยู่ได้แต่อาการ “แบงก์รัน” คือมีผู้ฝากเงินถอนเงินมากกว่าฝากวันละ3-400 ล้านบาทเกือบทุกวัน
งานปล่อยกู้และให้บริการทางการเงินทุกอย่างหยุดหมด

พนักงานเปลี่ยนมาทำเรื่อง “กู้บริษัท” โดยการ “ควบรวม” กับบริษัทที่มีปัญหาอื่น ๆ เพราะไม่มีบริษัทดีหรือใหญ่พอที่จะเข้ามาช่วยควบรวมหรือเพิ่มทุนให้ ว่าที่จริงบริษัทใหญ่ ๆ รวมถึงแบงก์ก็กำลังจะ “ตาย” แนวคิดเรื่องบริษัทที่อ่อนแอมารวมกันเพื่อให้เกิดความแข็งแรงนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วเมื่อมองย้อนกลับไป แต่ในขณะนั้นเราไม่รู้และไม่เข้าใจ

สุดท้ายบริษัทก็ล่มสลาย ในขณะที่แบงก์ส่วนใหญ่ก็รอดเพราะรัฐบาลปล่อยให้ล้มไม่ได้ ประเทศเริ่มต้นใหม่และเจริญเติบโตต่อไปจนถึงวันนี้และไม่ได้มีวิกฤติแบบปี 2540 อีกเลย โดยเฉพาะในภาคของการเงินที่มีการจัดระบบและการบริหารที่เข้มงวด แบงก์มีการสะสมทุนเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดจนสูงกว่ามาตรฐานมาก พร้อมกับการทำงานอย่างอนุรักษ์นิยม ซึ่งทำให้ผมเชื่อว่า วิกฤติการเงินจากต่างประเทศรอบนี้ จะไม่มีผลอะไรกับสถาบันการเงินของไทยอย่างแน่นอน

See less

LATEST NEWS

SCB CIO มอง 3 ปัจจัยเสี่ยงทำโลกผันผวน แนะลงทุนแบบ Stay Invested จัดพอร์ตรอรับผลเลือกตั้งสหรัฐฯ

SCB CIO แนะจับตา 3 ปัจจัยหลักทำตลาดการเงินผันผวนในเดือนตุลาคมนี้ มองตลาดหุ้นสหรัฐมีโอกาสปรับฐาน ช่วงก่อนการเลือกตั้ง และมีแนวโน้มปรับขึ้นหลังทราบผลการเลือกตั้ง แนะใช้กลยุทธ์ Stay Invested หาจังหวะลงทุน

GC เชิญร่วมงาน GC Sustainable Living Symposium 2024 ตอกย้ำ “ยั่งยืนไม่ยาก” Hybrid Event รวมพลคนหัวใจยั่งยืนเสวนาและนิทรรศการ 18 ตุลาคม 2567 นี้

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ขอเชิญคนหัวใจรักษ์โลก (GEN S: Generation Sustainability) ทุกวัย ทุกอาชีพ มาร่วมกันหาคำตอบของการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนในงาน GC Sustainable Living Symposium 2024: GEN S GATHERING ในรูปแบบ Hybrid Event ทั้ง On Ground และ Online ภายใต้แนวคิด “ยั่งยืนไม่ยาก”  พบกับการเสวนาเปิดมุมมองธุรกิจสู่ความยั่งยืนอย่างรอบด้านและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมาย Net Zero โดยผู้นำจากทุกภาคส่วน ชมนิทรรศการนวัตกรรมที่คิดเพื่อโลก และแลกเปลี่ยนไอเดียสร้างสรรค์จุดแรงบันดาลใจกู้โลกเดือด เป็นประโยชน์สำหรับทั้งภาคธุรกิจและการใช้ชีวิตที่จะทำให้เรื่องของความยั่งยืนไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป ที่พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน ในวันที่ 18 ตุลาคม 2567 นี้

RELATED