ก.ล.ต.ร่อนหนังสือถึง ตลท.ทบทวนเงื่อนไข Short Sell-โปรแกรมเทรด พร้อมเข้าเช็คประสิทธิภาพระบบตรวจสอบ

ก.ล.ต.ส่งหนังสือถึง ตลท.ทบทวนเงื่อนไขธุรกรรมของ Short Sell – โปรแกรมเทรด ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเท่าเทียมแก่นักลงทุนทุกกลุ่ม พร้อมเข้าตรวจสอบประสิทธิภาพระบบมอนิเตอร์ Naked Short Selling ของ ตลท.- บล.

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือถึง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อสื่อสาร 2 ประเด็นสำคัญดังนี้

1. เกี่ยวกับธุรกรรมการขายชอร์ต (Short Selling) โดยก.ล.ต.ให้อำนาจคณะกรรมการตลาดหลักทรัพยฯ สามารถปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ เช่น การยกระดับเกณฑ์ Price Rule ให้ธุรกรรมขายชอร์ตต้องทำที่ระดับราคาสูงกว่าราคาตลาดครั้งสุดท้ายเท่านั้น (Uptick rule) เพื่อป้องกันการ Dump ราคา จากตอนนี้ที่สามารถทำได้ที่ราคาเท่ากับหรือสูงกว่าราคาตลาดครั้งสุดท้าย (Zero Uptick Rule) ซึ่งคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถใช้วิจารณญาณแก้ไขได้ รวมถึงเงื่อนไขอื่น ๆ ที่จะทำให้การดูแลสภาพตลาดมีเสถียรภาพมากขึ้น และหากว่ามาตรการที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถทบทวนและเสนอให้ ก.ล.ต. พิจารณาเห็นชอบได้

“บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ มีอำนาจเต็ม และเป็นผู้ที่มอนิเตอร์ภาพรวมตลาดอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา หากมีอะไรต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อสร้างเสถียรภาพของตลาดฯ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน สามารถทำได้เลยตามวิจารณญาณของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือหากติดขัดด้านกฎเกณฑ์ต้องการเพิ่มเติมอะไรก็สามารถส่งเรื่องมาที่ ก.ล.ต.ได้เลย พร้อมจะสนับสนุนเต็มที่” นางสาวจอมขวัญ กล่าว

2.ตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรเพิ่มกลไกการตรวจสอบธุรกรรมของโปรแกรมเทรด ซึ่ง ก.ล.ต.มองว่ามีความเสี่ยงสูง เพราะปัจจุบันสัดส่วนปริมาณและมูลค่าซื้อขายสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยแบ่งเป็น 2 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย

2.1.การระบุตัวตนผู้ธุรกรรม จากปัจจุบันจะเห็นเพียงคำสั่งซื้อขายที่มาผู้ดูแลรับฝากทรัพย์สิน (Custodian) ซึ่งควรต้องเจาะไปว่าลูกค้าของคัสโตเดี้ยนที่ส่งคำสั่งมาคือใคร เพื่อป้องกันการขายชอร์ตที่ไม่มีการยืมหลักทรัพย์ (Naked Short Selling) เพราะเมื่อรู้ว่าใครคือผู้ส่งคำสั่ง ก็จะได้รู้ว่าผู้นั้นมีหุ้นอยู่ในมือหรือไม่

2.2.การควบคุมต้นทุนซื้อขายของโปรแกรมเทรดที่มาจากนักลงทุนบุคคลซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยอย่างมีนัยสำคัญ

“หลักในการคิดค่าคอมมิชชั่น หากเป็นกลุ่มลูกค้าสถาบัน ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ ต้นทุนในการทำธุรกรรมซื้อขายจะต่ำกว่าปกติอยู่แล้ว โดยจะส่งคำสั่งผ่านโปรแกรมเทรดหรือส่งผ่านโบรกเกอร์โดยตรง ก็นับว่าแฟร์ แต่หากผู้ที่ใช้โปรแกรมเทรดเป็นนักลงทุนบุคคล ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่า ดังนั้นต้นทุนการซื้อขายที่ต้องจ่าย ก็ควรสูงกว่ากลุ่มสถาบัน หลักการคิดควรเป็นแบบนั้น

แต่ปัญหาตอนนี้คือเราไม่รู้เลยว่าผู้ที่ใช้โปรแกรมเทรดเป็นใคร เพราะส่วนใหญ่จะดำเนินการผ่านคัสโตเดี้ยนมาอีกที ดังนั้นจึงอยากให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มกลไกการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมไม่ให้มีการได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันในทุกกลุ่มนักลงทุน ที่จริงไม่ควรโทษโปรแกรมเทรด แต่ควรหาให้ได้ว่าผู้ที่ใช้โปรแกรมเทรดนั้นเป็นใคร” รองเลขาธิการ เพิ่มเติม

นอกจากนี้ ก.ล.ต.เตรียมเข้าตรวจสอบระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่ใช้ในการตรวจสอบ Naked Short Selling เพื่อให้มั่นใจว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเร็ว ๆ นี้ โดยได้แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว

LATEST NEWS

SCB CIO มอง 3 ปัจจัยเสี่ยงทำโลกผันผวน แนะลงทุนแบบ Stay Invested จัดพอร์ตรอรับผลเลือกตั้งสหรัฐฯ

SCB CIO แนะจับตา 3 ปัจจัยหลักทำตลาดการเงินผันผวนในเดือนตุลาคมนี้ มองตลาดหุ้นสหรัฐมีโอกาสปรับฐาน ช่วงก่อนการเลือกตั้ง และมีแนวโน้มปรับขึ้นหลังทราบผลการเลือกตั้ง แนะใช้กลยุทธ์ Stay Invested หาจังหวะลงทุน

GC เชิญร่วมงาน GC Sustainable Living Symposium 2024 ตอกย้ำ “ยั่งยืนไม่ยาก” Hybrid Event รวมพลคนหัวใจยั่งยืนเสวนาและนิทรรศการ 18 ตุลาคม 2567 นี้

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ขอเชิญคนหัวใจรักษ์โลก (GEN S: Generation Sustainability) ทุกวัย ทุกอาชีพ มาร่วมกันหาคำตอบของการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนในงาน GC Sustainable Living Symposium 2024: GEN S GATHERING ในรูปแบบ Hybrid Event ทั้ง On Ground และ Online ภายใต้แนวคิด “ยั่งยืนไม่ยาก”  พบกับการเสวนาเปิดมุมมองธุรกิจสู่ความยั่งยืนอย่างรอบด้านและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมาย Net Zero โดยผู้นำจากทุกภาคส่วน ชมนิทรรศการนวัตกรรมที่คิดเพื่อโลก และแลกเปลี่ยนไอเดียสร้างสรรค์จุดแรงบันดาลใจกู้โลกเดือด เป็นประโยชน์สำหรับทั้งภาคธุรกิจและการใช้ชีวิตที่จะทำให้เรื่องของความยั่งยืนไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป ที่พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน ในวันที่ 18 ตุลาคม 2567 นี้

RELATED