SCB CIO มอง 3 ปัจจัยเสี่ยงทำโลกผันผวน แนะลงทุนแบบ Stay Invested จัดพอร์ตรอรับผลเลือกตั้งสหรัฐฯ

SCB CIO แนะจับตา 3 ปัจจัยหลักทำตลาดการเงินผันผวนในเดือนตุลาคมนี้ มองตลาดหุ้นสหรัฐมีโอกาสปรับฐาน ช่วงก่อนการเลือกตั้ง และมีแนวโน้มปรับขึ้นหลังทราบผลการเลือกตั้ง แนะใช้กลยุทธ์ Stay Invested หาจังหวะลงทุน

นายศรชัย สุเนต์ตา CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดการเงินในเดือนตุลาคมนี้ มีแนวโน้มผันผวนเพิ่มขึ้น แนะใช้กลยุทธ์ Stay Invested หาจังหวะลงทุน โดย Core portfolio เน้นหุ้นสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน A-share ไทย และทองคำ

สำหรับ 3 ปัจจัยเสี่ยงต่อการปรับฐาน ได้แก่

  1. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และตะวันออกกลาง ระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน 
  2. การรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3/67 ของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเติบโตแผ่วลงเมื่อเทียบเป็นรายปี และอาจสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน ท่ามกลาง Valuation ที่ตึงตัว
  3. ความกังวลของนักลงทุน บนความไม่แน่นอนด้านนโยบายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เมื่อเข้าใกล้ช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้ SCB CIO มองว่า ความผันผวนในตลาดการเงินที่เพิ่มขึ้น เป็นโอกาสใช้กลยุทธ์ Stay Invested  หรือการลงทุนอย่างต่อเนื่องในสินทรัพย์ที่น่าสนใจ ได้แก่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากการที่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงแบบจัดการได้ (Soft Landing) จะช่วยสนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่ด้วย Valuation บนดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับที่สูงมากกว่าการปรับลดดอกเบี้ยในอดีต ทำให้นักลงทุนสามารถรอจังหวะตลาดปรับฐานเพื่อเข้าลงทุน ทั้งพอร์ตหลักระยะยาว (Core Portfolio) และ พอร์ตเสริมระยะสั้น (Opportunistic Portfolio) ได้

อย่างไรก็ตาม จากสถิติในอดีต ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มผันผวนสูงและปรับตัวลดลง ในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 1-2 เดือน รวมถึงเดือนที่จัดการเลือกตั้งด้วย แต่ตลาดฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นหลังทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ว่าพรรคใดจะได้รับชัยชนะ จึงเป็นโอกาสสะสมเมื่อตลาดอ่อนตัว

สำหรับการลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯบนพอร์ตหลัก แนะนำให้ลงทุนแบบ Barbell Strategy โดยลงทุนทั้งหุ้นกลุ่ม Defensive ที่ค่อนข้างทนทานทุกสภาวะ เช่น กลุ่มสาธารณูปโภค สุขภาพ และสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น รวมทั้งหุ้นกลุ่ม Quality Growth เช่น กลุ่มบริการสื่อสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยในกรณีที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง สามารถลงทุนในดัชนีหุ้นขนาดเล็กของสหรัฐฯ (Russell 2000) บนพอร์ตเสริมได้ เนื่องจาก Valuation ถือว่ายังถูกกว่าดัชนีหุ้นขนาดใหญ่ และเป็นดัชนีหุ้นที่มีสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่มาจากในสหรัฐฯ จึงได้ประโยชน์จากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งกว่าคาด มากกว่าดัชนีหุ้นขนาดใหญ่ ที่มีสัดส่วนรายได้มากกว่า 40% อยู่นอกสหรัฐฯ

ด้านตลาดหุ้นยุโรปมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มเร่งลดดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยหนุน Valuation ตลาดฯ ที่ยังไม่แพง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฝั่งสหรัฐฯ ขณะที่ ตลาดฯ อาจได้อานิสงส์ทางอ้อมจากการที่จีนเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มีความไม่แน่นอนในฝรั่งเศส ที่ล่าสุด นายกรัฐมนตรี มีแผนขึ้นภาษีนิติบุคคล และความเสี่ยงที่กำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดฯ จะถูกปรับลดลง เราจึงแนะนำให้เน้นลงทุนระยะยาวกลุ่ม Quality Growth ที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง และมีงบดุลที่ดี ภายใต้ Core Portfolio แต่ไม่แนะนำลงทุนระยะสั้นบน Opportunistic Portfolio  

นอกจากนี้ แนะนำให้ลงทุน ในตลาดหุ้นจีน A-Shares บน Core Portfolio เนื่องจากการออกมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของทางการจีนรอบล่าสุด จะช่วยลดความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจจีน และช่วยหนุน Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นจีน โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน A-Shares ที่จะได้อานิสงส์โดยตรงจากมาตรการกระตุ้นทั้งในระยะสั้น และระยะยาว และมีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางลบจากปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่จำกัดกว่าตลาดหุ้นจีน H-Shares อย่างไรก็ตาม ยังไม่แนะนำให้ลงทุนระยะสั้นในหุ้นจีน บน Opportunistic Portfolio เนื่องจาก มีความเสี่ยงที่หุ้นจีน อาจพักฐาน จากแรงขายทำกำไรเมื่อใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกอบกับ นักลงทุนอาจชะลอการซื้อขาย

สำหรับตลาดหุ้นไทย แนะนำให้ลงทุนทั้งใน Core Portfolio และ Opportunistic Portfolio จากภาพรวมเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวจากการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเริ่มดำเนินนโยบายการคลังต่างๆ เช่น การแจกเงินสด 10,000 บาทให้กลุ่มเปราะบาง เพื่อเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ และเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี เป็นต้น

ขณะที่ สถานการณ์การเมืองในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น หลังจากการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เมื่อเดือน ก.ย. ทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง ส่วนภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกไทย ยังได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน นอกจากนี้   SCB CIO คาดหวังว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาส 4/2567 ตามการลดดอกเบี้ยของ Fed และจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 2.0% ภายในต้นปี 68 ซึ่งจะช่วยหนุนภาคการลงทุน และการบริโภคภายในประเทศได้

ด้านเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น ราคาทองคำโลกที่เพิ่มขึ้น อาจสร้างแรงกดดันให้ภาคส่งออกและการท่องเที่ยวจำกัด แต่ช่วยสนับสนุนเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม ยังคงต้องติดตามต่อไป ซึ่งคาดว่า จะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ แต่มีแนวโน้มค่อยๆ คลี่คลายลง เบื้องต้นคาดว่า ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างจำกัด ประกอบกับ รัฐบาลมีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว

ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้  SCB CIO มองว่า ยังระมัดระวังว่า อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond Yield) ระยะยาว มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นเร็วจากความเสี่ยงที่สำคัญคือ การเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่อาจทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการขาดดุลงบประมาณหรือเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากการขึ้นภาษีนำเข้า ซึ่งอาจกดดันให้ Bond Yield ระยะยาวเพิ่มขึ้นในช่วงสั้นได้เช่นกัน

ขณะที่ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ มีแนวโน้มส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง ผ่านราคาน้ำมัน แต่มองว่า ผลกระทบอาจไม่ได้อยู่ยาวนานนัก ท่ามกลางอุปสงค์ที่ชะลอตัว ขณะที่ อุปทานส่วนเกินยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น จึงยังไม่แนะนำให้ลงทุนในน้ำมัน แต่แนะนำให้ลงทุนทองคำบน Core Portfolio เนื่องจากมองว่า ราคาทองคํา ยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันแนะนำให้ลงทุนในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ทั้งในสหรัฐฯ และ ไทย โดยมองว่า ด้วยแนวโน้มวงจรดอกเบี้ยขาลง จะเป็นปัจจัยบวกต่อการประเมินมูลค่า REITs และส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนจาก REITs เทียบกับพันธบัตรรัฐบาล (Yield Spread) ประกอบกับปัจจัยพื้นฐานของ REITs ยังดี ขณะที่ Valuation ยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง

อย่างไรก็ตาม การลงทุนบน Core Portfolio ควร Stay Invested และกระจายลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เน้นตอบโจทย์ 3 วัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อสร้างกระแสเงิน เพื่อสร้างการเติบโต และ เพื่อป้องกันความเสี่ยงพอร์ตลงทุนรวม จากเงินเฟ้อ และความเสี่ยงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่ Opportunistic Portfolio เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง เป็นการลงทุนเสริมจากพอร์ตหลักในสินทรัพย์แบบเฉพาะเจาะจง เน้นเพิ่มโอกาส ตามสถานการณ์

LATEST NEWS

SCB CIO มอง 3 ปัจจัยเสี่ยงทำโลกผันผวน แนะลงทุนแบบ Stay Invested จัดพอร์ตรอรับผลเลือกตั้งสหรัฐฯ

SCB CIO แนะจับตา 3 ปัจจัยหลักทำตลาดการเงินผันผวนในเดือนตุลาคมนี้ มองตลาดหุ้นสหรัฐมีโอกาสปรับฐาน ช่วงก่อนการเลือกตั้ง และมีแนวโน้มปรับขึ้นหลังทราบผลการเลือกตั้ง แนะใช้กลยุทธ์ Stay Invested หาจังหวะลงทุน

GC เชิญร่วมงาน GC Sustainable Living Symposium 2024 ตอกย้ำ “ยั่งยืนไม่ยาก” Hybrid Event รวมพลคนหัวใจยั่งยืนเสวนาและนิทรรศการ 18 ตุลาคม 2567 นี้

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ขอเชิญคนหัวใจรักษ์โลก (GEN S: Generation Sustainability) ทุกวัย ทุกอาชีพ มาร่วมกันหาคำตอบของการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนในงาน GC Sustainable Living Symposium 2024: GEN S GATHERING ในรูปแบบ Hybrid Event ทั้ง On Ground และ Online ภายใต้แนวคิด “ยั่งยืนไม่ยาก”  พบกับการเสวนาเปิดมุมมองธุรกิจสู่ความยั่งยืนอย่างรอบด้านและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมาย Net Zero โดยผู้นำจากทุกภาคส่วน ชมนิทรรศการนวัตกรรมที่คิดเพื่อโลก และแลกเปลี่ยนไอเดียสร้างสรรค์จุดแรงบันดาลใจกู้โลกเดือด เป็นประโยชน์สำหรับทั้งภาคธุรกิจและการใช้ชีวิตที่จะทำให้เรื่องของความยั่งยืนไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป ที่พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน ในวันที่ 18 ตุลาคม 2567 นี้

RELATED