วัน Corner แตก – ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

หุ้นในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมาก น่าจะเป็นร้อยตัวขึ้นไป โดยเฉพาะที่เป็นหุ้นขนาดเล็ก น่าจะเป็นหุ้นที่ผมเรียกว่า “อยู่ใน Corner” คือเป็นหุ้นที่ถูกซื้อโดยโดยนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น “รายใหญ่” และบางครั้งก็รวมถึงผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในปริมาณที่มากกว่าปกติมากจนทำให้เหลือหุ้นจำนวนน้อยที่ “ถูกต้อนเข้ามุม”

และหลังจากนั้น ราคาก็มักจะขึ้นไปแรงมากเมื่อมีนักลงทุนเข้าไปซื้อเพิ่มในขณะที่คนขายมักจะไม่อยากขายเพราะคิดว่าหุ้นจะขึ้นไปอีก ซึ่งก็ส่งผลให้หุ้นมีราคาสูงขึ้นไปจน “เกินพื้นฐาน” ไปมาก เช่น วัดจากค่า “PE ปกติ” ตั้งแต่ 40-50 เท่าขึ้นไป ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็น

บริษัทที่ดีเยี่ยมแบบซุปเปอร์สต็อก หรือมีค่า PE สูงเป็น 2-3 เท่าของบริษัทในธุรกิจเดียวกันทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีความสามารถในการแข่งขันเหนือคู่แข่ง

หุ้นที่อยู่ใน Corner นั้น ไม่ช้าก็เร็ว หุ้นจะตกลงมาแรงมากและกลับมาสู่ราคาพื้นฐานที่ควรจะเป็น สิ่งที่ไม่รู้ก็คือ เมื่อไร? และเมื่อเกิดขึ้นแล้วหุ้นจะตกลงมามากและเร็วแค่ไหน? จากประสบการณ์ของตลาดหุ้นไทย ผมคิดว่าหุ้นที่อยู่ในคอร์เนอร์มักจะมีวันที่จะเป็นจุดเริ่มที่จะ “แตก” หลาย ๆ วันดังต่อไปนี้

วันที่น่ากลัวที่ Corner จะแตกและเกิดกับหุ้นมากที่สุดก็คือ วันประกาศผลประกอบการโดยเฉพาะประจำปีของบริษัท ซึ่งก็กำลังจะเกิดขึ้นและนับต่อจากวันนี้ไปอีกประมาณ 1 เดือน เหตุผลเป็นเพราะหุ้นที่ถูก Corner นั้น มักจะเป็นหุ้นที่มีผลประกอบการที่ดีและถูกประเมินว่ารายได้และกำไรจะเติบโตสูงและต่อเนื่อง เป็นแนว “หุ้นเติบโต” หรือบางทีก็เป็น “หุ้นซุปเปอร์สต็อก” ที่จะยิ่งใหญ่จนกลายเป็นหุ้นยักษ์ในไทยหรือระดับอาเซียนหรือระดับโลก ดังนั้น นักลงทุนก็จะเฝ้าดูผลประกอบการที่จะประกาศของบริษัท

ถ้าผลประกอบการยังเติบโตดี ราคาหุ้นก็มักจะวิ่งต่อไป แต่ถ้ากำไรตกฮวบโดยไม่สามารถอธิบายได้จากภาวะเศรษฐกิจหรือตลาดของสินค้าว่าเป็นเรื่องชั่วคราวจริง ๆ ราคาหุ้นก็มักจะตกลงมาอย่างแรงและอาจจะทำให้ Corner “แตก” นักเล่นหุ้นบางคนขาดความมั่นใจและเปลี่ยนมุมมองต่อหุ้นว่าไม่ใช่เป็นหุ้นที่ดีหรือโตเร็วมากอย่างที่คิดและตัดสินใจขายหุ้นทิ้งในขณะที่คนจะซื้อลดน้อยลงมาก และการที่หุ้นตกลงมาแรงในรอบแรกก็ส่งผลให้คนกลุ่มที่สองขาดความมั่นใจและถ้ายังมีกำไรในหุ้นอยู่ก็จะรีบขายหุ้นทิ้งเพิ่มทำให้หุ้นตกลงมาอีกที่จะทำลายความมั่นใจของคนกลุ่มต่อ ๆ ไป

สิ่งที่เลวร้ายที่สุดแทบจะเป็น “นรกแตก” ก็คือ คนที่ใช้มาร์จินในการซื้อหุ้นจำนวนมาก ซึ่งรวมไปถึงนักลงทุนรายใหญ่ที่เป็นคน Corner หุ้นเอง ต้องถูกบังคับให้ขายเพราะหุ้นตกลงมาต่ำกว่าราคาที่กำหนดและตนเองไม่มีเงินมาเติม นั่นจะส่งผลให้ราคาหุ้นตกลงมาแทบจะเป็น “หายนะ”

วันที่สองที่น่ากลัวมากยิ่งกว่าวันแรกก็คือ วันที่มีการเปิดเผยว่ามี “Fraud” หรือการโกงหรือการหลอกลวงในบริษัทที่ทำโดยผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงและผิดกฎหมาย ซึ่งนั่นก็รวมถึงการแต่งบัญชี การถอนเงินออกจากบริษัทอย่างผิดกฎหมาย

การโกงโดยอาศัยบริษัทลูกที่จดทะเบียนในต่างประเทศซึ่งไม่ได้รับการตรวจสอบเพียงพอจากสำนักงานใหญ่ และอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งในกรณีแบบนี้ บ่อยครั้งก็ทำเพื่อที่จะสร้างผลกำไรปลอมให้กับบริษัทเพื่อที่จะปั่นหุ้นโดยการทำ Corner หุ้น ซึ่งจะสามารถทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปได้หลาย ๆ เท่าในเวลาอันสั้น ดังนั้น เมื่อข่าวออกมา นักเล่นหุ้นก็จะตกใจและขายหุ้นทิ้งและทำให้หุ้นที่ราคาสูงลิ่วตกลงมาแบบ “หายนะ” หลายบริษัทก็มักจะล้มละลายไปในที่สุด

วันที่สามที่น่ากลัวและมักทำให้ Corner แตกเป็นระบบก็คือ การเกิดวิกฤติการเงินเศรษฐกิจและตลาดหุ้น เพราะนี่เป็นสิ่งที่เกิดบ่อยพอสมควรคือประมาณ 10 ปีครั้ง เพราะการเกิดวิกฤตินั้น ข้อแรกก็คือ ทำให้คนกลัวและขาดความมั่นใจในการลงทุนในหุ้น ดังนั้น พวกเขามักจะอยากขายหุ้นโดยไม่คำนึงถึงพื้นฐานของบริษัท

และข้อสองก็คือ ในยามวิกฤติ เม็ดเงินหรือสภาพคล่องมักจะหดหายไปมาก ขาใหญ่และรวมถึงรายย่อยต่างก็ต้องการถือเงินสด สถาบันการเงินก็ต้องการเรียกหนี้รวมถึงมาร์จินการซื้อหุ้นคืน ดังนั้น หุ้นที่แพงมากและมีสภาพคล่องสูงก็จะถูกขายจนราคาตกเป็น “หายนะ” และตัวอย่างที่ดีที่สุดก็คือ ช่วงวิกฤติไฮเท็คในปี 2000 และช่วงซับไพร์มปี 2008 ในตลาดหุ้นสหรัฐที่หุ้นที่ถูก Corner และมีค่า PE เป็นร้อยเท่าหรือไม่มีค่า PE เพราะยังขาดทุน ตกลงมาเป็นหายนะส่วนใหญ่น่าจะเกิน 90% รวมถึงหุ้นอย่างอะมาซอน ใน

ขณะที่หุ้นตัวเล็กที่เป็นไฮเท็คจำนวนมากล้มละลาย ราคาหุ้นเป็นศูนย์

วันสุดท้ายที่ Corner อาจจะแตกก็คือ วันที่คนทำ Corner เองตัดสินใจที่จะขายหุ้นทำกำไรอย่างรวดเร็วเกินไปจนราคาหุ้น “ถล่ม” ซึ่งเหตุผลก็อาจจะมีร้อยแปด เช่น อาจจะเกรงว่ากลุ่มอื่นที่ร่วมกันทำอาจจะชิงขายก่อนเพราะไม่แน่ใจว่า Corner ของหุ้นจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหนเพราะสถานการณ์อุตสาหกรรมหรือบริษัทอาจจะถูกเปิดเผยในเร็ววันว่าธุรกิจจะแย่ลงมากเป็นต้น

การที่หุ้นตกลงมาแรงและเร็วมากเพราะคนทำ “Take Profit” เร็วเกินไปนั้น บางทีก็มาจาก “ฝีมือ” หรือ “เม็ดเงิน” ยังไม่ถึงขั้นเพราะประสบการณ์ไม่พอก็น่าจะมีไม่น้อย ตัวอย่างในตลาดหุ้นไทยก็น่าจะรวมถึงเหตุการณ์ “Corner แตก” ของหุ้นตัวหนึ่งที่ทำให้ราคาหุ้นตกลงมาเป็น “หายนะ” เมื่อเร็ว ๆ และก่อให้เกิดความเสียหายเป็นกรณีฟ้องร้องทางกฎหมายที่ยังไม่รู้ว่าจะออกมาเป็นอย่างไรด้วย

วันที่ Corner “แตก” นั้น บ่อยครั้งหุ้นก็ไม่ตกลงมามากในระดับหายนะ เพราะมันอาจจะไม่ได้ “แตกแรง” หุ้นอาจจะตกลงมาถึงระดับหนึ่งแล้วก็นิ่ง ซึ่งอาการจะคล้าย ๆ กับการที่ Corner หรือมุมที่เคยแคบมาก มีหุ้นที่ “หมุนเวียนตามธรรมชาติ” น้อยมากเช่นแค่ 5-6% ของบริษัทก็อาจจะขยายตัวเป็น 10-15

โดยที่ราคาหุ้นลดความแพงลงมาระดับหนึ่ง เช่น จาก PE 100 เท่าเป็น 70 เท่า แล้วราคาหุ้นก็นิ่งอยู่ประมาณนั้น อาจจะเพื่อรอวันที่จะมีคนมาทำ Corner ใหม่เมื่อมีสถานการณ์ใหม่ที่เอื้ออำนวยเกิดขึ้น

หุ้นที่ Corner แตกอย่าง “สมบูรณ์” คือไม่เหลือคนที่เป็น “สปอนเซอร์” หลักแล้ว ราคาหุ้นก็มักจะไหลลงไปเรื่อย ๆ จนราคาใกล้เคียงกับพื้นฐานที่แท้จริงแต่ก็ไม่น่าจะเป็นหุ้นถูกที่น่าสนใจลงทุน ความหวังว่าราคาหุ้นจะกลับขึ้นมาเท่าเดิมก่อนตกซึ่งสูงลิ่วนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ และความหวังว่าจะมีนักเล่นหุ้นรายใหญ่กลับเข้ามา Corner หุ้นตัวนั้นอีกก็น่าจะเป็นไปไม่ได้เช่นเดียวกัน

เหตุเพราะว่า “ภาพ” ของหุ้นในสายตาของนักลงทุนเสียไปแล้ว “เซียน” มักจะไม่สนใจที่จะทำ Corner หุ้นที่มีประวัติ “เน่า” แล้ว เพราะจะทำไม่ขึ้น สู้ทำกับหุ้นตัวใหม่ ๆ ที่ขายสตอรี่ใหม่ ๆ ได้ง่ายจะดีกว่า ดังนั้น เมื่อ Corner หุ้นแตกแล้วก็จงขายทิ้ง “ทุกราคา” อย่า “ติดหุ้น”

สุดท้ายสำหรับคนที่ชอบเล่นกับหุ้นที่ถูก Corner เพราะคิดว่าจะทำกำไรได้มากในเวลาอันสั้น และอาจจะเชื่อว่าหุ้นตัวนั้น “ดีจริง” อาจจะเพราะได้เห็น “เซียนหุ้น” เข้าไปซื้อมากมาย เห็นนักวิเคราะห์เชียร์ซื้อเกือบจะทุกแห่ง เห็นผู้บริหารบริษัทประกาศขยายงานและเติบโตตลอดเวลา และตั้งเป้าโตของมูลค่าหุ้น บางทีเป็นแสนล้านบาทภายในเวลาไม่กี่ปี เห็นราคาหุ้นขึ้นหวือหวา บางวันขึ้นไป 10% โดยไม่มีข่าวอะไรพิเศษ

ทั้งหมดนั้นอาจจะเป็นสัญญาณว่าหุ้นกำลังถูก Corner แล้ว และสิ่งที่ต้องระวังก็คือ มันมีโอกาส “แตก” ได้ตลอดเวลา สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าไม่คุ้มที่จะเข้าไปเล่น เพราะในระยะยาว เราจะแพ้ และคนที่จะชนะได้น่าจะเป็นคนที่ทำหรือต้อนหุ้นเข้ามุม แต่จริง ๆ ก็ไม่แน่ คนที่ทำก็อาจพลาดได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ตลาดหุ้นและ/หรือหุ้นเกิดวิกฤติกะทันหัน และนั่นก็จะเป็น “หายนะ”

โลกในมุมมองของ Value Investor

21 มกราคม 2566

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

LATEST NEWS

“Smarthome” สมาร์ทโฮมยืนหนึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับทุกครอบครัว

เมื่อพูดถึงแแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เชื่อว่าใครหลายๆ คน คงจะนึกถึงแบรนด์ “Smarthome” เป็น 1 ในคำตอบในใจอย่างแน่นอน ด้วยจุดเด่นของสินค้าที่แข็งแรง ทนทาน ดีไซน์ทันสมัยและราคาที่สามารถเข้าถึงได้ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับแบรนด์ “Smarthome” กันให้มากยิ่งขึ้น

บิ๊กดีลสะเทือนวงการ! กรุงศรีฟินโนเวตจับมืออีฟราสตรัคเจอร์ เปิดฉากลงทุนมหาศาลปั้นกองทุนใหม่หนุนสตาร์ทอัพรายเล็กก้าวกระโดด พร้อมเปิด Accelerator ติดอาวุธเร่งสปีดสร้างการเติบโต

กรุงศรี ฟินโนเวต ร่วมกับ อีฟราสตรัคเจอร์ (Efra Structure) ของ ป้อม ภาวุธ ผู้บุกเบิกและคร่ำหวอดในวงการอีคอมเมิร์ซไทย เตรียมปั้นกองทุนยักษ์ “ฟินโน อีฟรา ไพรเวท อิควิตตี้ ทรัสต์” (Finno Efra Private Equity Trust) มุ่งลงทุนในสตาร์ทอัพไทยและอาเซียน งบประมาณมหาศาลกว่า 1,300 ล้านบาท (หรือกว่า 35 ล้านเหรียญสหรัฐ) ภายในระยะเวลา 4 ปี เผยเริ่มพูดคุยกับสตาร์ทอัพที่น่าสนใจแล้วราว 5-6 บริษัท พ่วงด้วยการเปิด Accelerator Program อย่างเป็นทางการ เพื่อปั้นสตาร์ทอัพระดับ Seed ถึง Pre-series A ให้เติบโตสู่ระดับ Series A ได้อย่างแข็งแกร่ง

SCB CIO มองตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน เมื่อเข้าสู่โค้งสุดท้ายเลือกตั้งสหรัฐฯ พอร์ตหลักแนะหุ้นกลุ่มเทคฯ-สุขภาพ- สาธารณูปโภค-ทองคำ ส่วนพอร์ตเสริมสะสมเวียดนาม

SCB CIO มองตลาดหุ้นโลกจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากสถิติชี้ว่า ดัชนี VIX  จะเร่งตัวขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วง 4 เดือนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ขณะที่สถิติในอดีตบ่งชี้ดัชนี S&P500 มีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงเดือนส.ค.- ก.ย. แนะกลยุทธ์ลงทุนในตลาดหุ้นเลือกหุ้นคุณภาพดีเติบโตสูงงบแข็งแกร่งยอดขายกำไรเติบโตยั่งยืนเช่นกลุ่มเทคโนโลยีพร้อมผสมผสานกับหุ้นกลุ่มที่มีความทนทานต่อภาวะตลาดผันผวนเช่นกลุ่มสาธารณูปโภค  สุขภาพและสินค้าจำเป็น พร้อมระวังลงทุนในหุ้นกลุ่มขนาดเล็กจากกำไรของกิจการของหุ้นขนาดเล็กค่อนข้างผันผวนและอิงกับเศรษฐกิจสหรัฐฯเป็นหลักซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วงของการชะลอตัวลง สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง-สูง แนะลงทุนหุ้นเวียดนามจากดัชนีฯที่ได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง

RELATED