SCB CIO มองตลาดหุ้นโลกจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากสถิติชี้ว่า ดัชนี VIX จะเร่งตัวขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วง 4 เดือนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ขณะที่สถิติในอดีตบ่งชี้ดัชนี S&P500 มีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงเดือนส.ค.- ก.ย. แนะกลยุทธ์ลงทุนในตลาดหุ้นเลือกหุ้นคุณภาพดีเติบโตสูงงบแข็งแกร่งยอดขายกำไรเติบโตยั่งยืนเช่นกลุ่มเทคโนโลยีพร้อมผสมผสานกับหุ้นกลุ่มที่มีความทนทานต่อภาวะตลาดผันผวนเช่นกลุ่มสาธารณูปโภค สุขภาพและสินค้าจำเป็น พร้อมระวังลงทุนในหุ้นกลุ่มขนาดเล็กจากกำไรของกิจการของหุ้นขนาดเล็กค่อนข้างผันผวนและอิงกับเศรษฐกิจสหรัฐฯเป็นหลักซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วงของการชะลอตัวลง สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง-สูง แนะลงทุนหุ้นเวียดนามจากดัชนีฯที่ได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง
นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลกเดือน ส.ค. 2567 โดยเราเห็นสัญญาณเศรษฐกิจประเทศขนาดใหญ่ ส่งสัญญาณเติบโตชะลอตัวลง จากตลาดแรงงานและภาคการผลิตที่อ่อนตัวแรง เมื่อพิจารณารายประเทศ พบว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังขยายตัวดี GDP ไตรมาส 2/2567 เติบโต 2.8% ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ด้วยแรงสนับสนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง แต่เริ่มเห็นสัญญาณความเปราะบางของเศรษฐกิจ จากยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่พุ่งสูงเกินคาด อัตราการว่างงานเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น การจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นต่ำกว่าคาด และตัวเลขภาคการผลิต เดือน ก.ค. โดยสถาบันการจัดการอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวในภาคการผลิต
ส่วนเศรษฐกิจยูโรโซน ส่งสัญญาณชะลอตัว แม้ GDP ไตรมาส 2/2567 จะขยายตัว 0.6% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 0.5% แต่เศรษฐกิจเยอรมนี ซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซน หดตัว 0.1% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะภาคอุตสาหกรรมถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ยสูง ส่วนญี่ปุ่น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ปรับลดคาดการณ์ GDP เหลือขยายตัว 0.6% จากเดิมที่ 0.8% และปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เป็น 2.5% จากเดิม 2.8% จากการที่รัฐบาลกลับมาอุดหนุนราคาพลังงานเดือนส.ค.-ต.ค. นี้
สำหรับเศรษฐกิจจีน GDP ไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 4.7% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำกว่าที่ตลาดคาด ส่วนภาคการผลิตในเดือน ก.ค. อาจหดตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน บ่งชี้ความอ่อนแอของเศรษฐกิจ ที่กำลังเผชิญความท้าทายเชิงโครงสร้างสำคัญในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการบริโภคอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่เอเชีย (Asia Emerging Market) ยังได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวในภาคเทคโนโลยี และการท่องเที่ยว โดยการส่งออกของไต้หวัน และ เกาหลีใต้ เดือน ก.ค. ยังมีแนวโน้มฟื้นตัว แม้เห็นการอ่อนตัวบ้างเมื่อเดือน มิ.ย.
ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดการเงิน ช่วงครึ่งหลังของปี 2567 มีแนวโน้มเผชิญความผันผวนสูงขึ้น ตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับฐาน นำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ เซมิคอนดักเตอร์ และหุ้นกลุ่มวัฏจักร (Cyclical) โดยเฉพาะยานยนต์ และสินค้าหรู ที่ปรับฐานรุนแรง จากความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการให้ประมาณการ การเติบโตของรายได้และกำไรในอนาคต (Guidance) บางบริษัทของหุ้นกลุ่มเติบโต (Growth) / Cyclical ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มนำตลาดก่อนหน้านี้ เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลงของสหรัฐฯ และตลาดแรงงานที่อ่อนตัวลงแรง สร้างความกังวลต่อโอกาสของการเกิดเศรษฐกิจถดถอย (Recession) มากขึ้น (โอกาสเกิดประมาณ 30%) นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนกลุ่มหุ้นลงทุน (Sector Rotation) ไปยังกลุ่ม Defensive เพิ่มมากขึ้น
SCB CIO มองว่า ความผันผวนของตลาดหุ้นโลกจะเพิ่มขึ้นอีกหลังจากนี้ เนื่องจากเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีนโยบายการหาเสียงต่างๆ ซึ่งจะมีผลต่อ Sentiment ของตลาดฯ โดยจากสถิติในอดีตบ่งชี้ว่า ดัชนี VIX จะเร่งตัวขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วง 4 เดือนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ขณะที่ สถิติบนผลตอบแทนการลงทุนใน S&P500 มีแนวโน้มชะลอลงเมื่อเข้าสู่เดือน ส.ค. และเดือน ก.ย.
ในส่วนของกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้น เรามองว่า Sector rotation จะยังเกิดขึ้นต่อไป โดยเราแนะนำให้ใช้กลยุทธ์ Barbell ด้วยการลงทุนในหุ้น Quality Growth ซึ่งเป็นหุ้นคุณภาพดีเติบโตสูง ที่มีงบดุลแข็งแกร่ง ยอดขายและกำไรมีการเติบโตแบบยั่งยืน เช่น กลุ่มเทคโนโลยี ผสมผสานการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive ที่กำไรมีความทนทานต่อสภาวะตลาดที่ผันผวน เช่น กลุ่มสาธารณูปโภค (Utilities) กลุ่มสุขภาพ (Healthcare) และ กลุ่มสินค้าจำเป็น (Consumer Staples) ที่อาจทำผลงานได้ดีกว่าตลาดในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม เราแนะนำให้ระมัดระวังการลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก เนื่องจาก กำไรของกิจการของหุ้นขนาดเล็กค่อนข้างผันผวน และอิงกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นหลัก ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วงของการชะลอตัวลง นอกจากนี้ หลายบริษัทในหุ้นขนาดเล็กอาจมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น จากปริมาณหุ้นกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) ที่กำลังจะครบกำหนดชำระหลังปี 2567 เป็นต้นไป
สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ จากข้อมูลในอดีต เราพบว่า เมื่อ Fed เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก จะเห็นกระแสเงินทุนของกองทุนรวม และกองทุนรวมดัชนี (ETF) ไหลออกจากกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund : MMF) ซึ่งจากข้อมูล ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2567 ขนาดกองทุน MMF อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 6.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าเงินลงทุนนี้ ส่วนหนึ่งจะย้ายไปลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนคุณภาพสูง (Investment Grade)
SCB CIO มองว่า ตราสารหนี้สหรัฐฯ ที่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 2-4 ปี เป็นกลุ่มที่น่าสนใจลงทุน เนื่องจากคาดการณ์ว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) สหรัฐฯ จะมีแนวโน้มลดลงในอนาคต โดย Bond Yield ของพันธบัตรระยะสั้น จะปรับลดลงมากกว่า ระยะยาว (Bull Steepening) ทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เป็น Inverted Yield Curve โดยผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว กลับมาเป็น Normal Yield Curve ที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสูงกว่าระยะสั้นตามปกติ ขณะที่ เราแนะนำให้ หลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวของสหรัฐฯ ที่มีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป ที่มีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้ง หากมีการเพิ่มการใช้จ่ายทางการคลัง และขาดดุลงบประมาณมากขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงจากการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ที่จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอนาคต
แนวทางการจัดพอร์ตลงทุนนั้น พอร์ตลงทุนหลัก (Core Portfolio) ลงทุนระยะยาว 1 ปีขึ้นไป ควรกระจายลงทุนในสินทรัพย์เพื่อตอบโจทย์ 3 วัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ 1) เพื่อสร้างกระแสเงิน ให้พอร์ตมีเสถียรภาพ เน้นหุ้นกู้ Investment Grade อายุเฉลี่ยประมาณ 2-4 ปี ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารที่สูง และกรณีเป็นผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง (UHNW) สามารถเลือกลงทุนผ่านตราสารหนี้นอกตลาด (Private Credit) ที่ให้ผลตอบแทนน่าสนใจกว่าหุ้นกู้เอกชนในตลาดได้ด้วย โดยที่นักลงทุนสามารถเลือกคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดความเสี่ยงได้ เช่น มีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้ลำดับแรกและมีหลักประกัน เป็นต้น 2) เพื่อสร้างการเติบโต เน้นลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ด้วยกลยุทธ์การลงทุนแบบ Barbell Strategy โดยมีสัดส่วนหุ้น Quality Growth ผสมผสานกับหุ้นกลุ่ม Defensive และ 3) เพื่อป้องกันความเสี่ยงของพอร์ต ลงทุนในทองคำ ซึ่งช่วยป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ และความเสี่ยงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ได้เป็นอย่างดี
สำหรับ ผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง-สูง แนะนำแบ่งเงินลงทุนบางส่วน ตามความเสี่ยงที่รับได้ ลงทุนระยะสั้นในพอร์ตลงทุนส่วนเสริม (Opportunistic Portfolio) ด้วย โดยเราแนะนำลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม เนื่องจาก ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง GDP ไตรมาส 2/2567 ขยายตัว 6.9% สูงกว่าไตรมาส 1/2567 ที่ขยายตัว 5.9% สินเชื่อช่วงครึ่งปีแรก ขยายตัว 6.0% ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เดือน ก.ค. ขยายตัว อยู่ที่ระดับ 54.7 การส่งออกเพิ่มขึ้น 19.7% ภาคอสังหาริมทรัพย์ เริ่มฟื้นตัว ครึ่งปีแรกยอดการโอนคอนโดเพิ่มขึ้น 107% Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยราคากำไรต่อหุ้นในอนาคต (12M Fwd P/E) อยู่ที่ 10.5 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี และผลสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์สถาบันต่างๆ (Consensus) คาดว่า การเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ของดัชนีฯ ในปีนี้ จะอยู่ที่ 32% เทียบปีก่อน
อย่างไรก็ตาม เราแนะนำขายตลาดหุ้นจีน H-Share ตลาดหุ้นยุโรป และตลาดหุ้นเกาหลีใต้ จาก Opportunistic Portfolio เนื่องจาก จีนเผชิญความไม่แน่นอนทางการค้ากับสหรัฐฯ มากขึ้น อาจส่งผลกระทบทางลบโดยอ้อมต่อตลาดฯ ผ่าน sentiment ของนักลงทุน ที่ย่ำแย่ลง เงินหยวนที่เสี่ยงอ่อนค่าลงต่อ เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ อาจกดดันแนวโน้มกำไรของตลาด ส่วนตลาดหุ้นยุโรป แนะนำขายจากโมเมนตัมเศรษฐกิจยุโรปเริ่มเห็นสัญญาณกลับมาแผ่วลง ความเสี่ยงด้านการค้าระหว่างประเทศกับคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ และจีน รวมถึง ความไม่แน่นอนการเมืองในฝรั่งเศส และข้อพิพาทการค้า ส่วนตลาดหุ้นเกาหลีใต้ แนะนำขายจาก risk sentiment ย่ำแย่ลง ความเชื่อมั่นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลง อีกทั้ง ห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศอื่นที่เกี่ยวเนื่องกันส่งสัญญาณชะลอตัว อาจกระทบประมาณการกำไรบริษัท