อวสานของการลงทุนหุ้นต่างประเทศ? | ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

การเปลี่ยนแปลงแนวทางการคิดภาษีการลงทุนหุ้นต่างประเทศเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ซึ่งมีผลสำคัญก็คือ ทำให้คนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศด้วยตนเองที่เริ่มมีมากขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคิดว่าการลงทุนหุ้นต่างประเทศนั้น “ไม่เสียภาษี” เหมือนการลงทุนในหุ้นไทย ถ้าไม่นำเงินกลับมาในปีที่ขายหุ้น นักลงทุนที่ไปนั้น ส่วนใหญ่แล้วก็หวังที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทย และต่างก็คิดว่าเงินที่นำออกไปลงทุนนั้น จะเป็นการลงทุนระยะยาวถึงยาวมาก เป็นการลงทุน “เพื่อชีวิต” เป็นการลงทุน “เพื่อการเกษียณ” หรืออย่างน้อยก็ลงทุนหลาย ๆ ปี ต่างก็ “ช็อก” เพราะอยู่ ๆ ก็มีประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป คนที่นำเงินที่ได้จากการลงทุนในต่างประเทศกลับมาจะต้องเสียภาษีตามอัตราบุคคลธรรมดา ซึ่งอาจจะเสียภาษีสูงสุดถึง 35%

​ที่ทำให้ช็อกกว่าก็คือ เกณฑ์การเสียภาษีใหม่นั้น ถ้าคนที่ไปลงทุนอยู่แล้ว ไม่ต้องการลงทุนต่อและจะนำเงินกลับมาทันทีเพื่อเลี่ยงที่จะเสียภาษีที่จะเริ่มใช้ในต้นปีหน้า ส่วนใหญ่แล้วก็ทำไม่ได้ เพราะถ้าขายปีนี้เพื่อจะนำเงินกลับมาปีหน้าก็ทำไม่ทันแล้ว สรุปก็คือ เงินที่ออกไปแล้ว ตอนนี้ก็เหมือนกับ “ผู้ลี้ภัย” ที่ไม่สามารถกลับประเทศไทยที่เป็นเหมือน “บ้านเกิด” ได้ โดยเฉพาะถ้าออกไปแล้วทำผลตอบแทนได้ดีและมีกำไรมาก เพราะถ้ากลับมาก็อาจจะโดนเก็บภาษีถึง 35% หลายคนที่ประสบปัญหานี้ต่างก็คิดว่า บางที เงินนี้อาจจะต้อง “อยู่นอกประเทศ” ไปเรื่อย ๆ “เอาไว้ใช้เวลาที่ส่งลูกไปเรียนเมืองนอก” หรือไม่ก็หาวิธีที่จะนำเงินกลับมาโดยไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งก็น่าจะมีโอกาสอยู่บ้างเมื่อคิดถึงความก้าวหน้าในเรื่องเทคโนโลยีทางการเงินในปัจจุบัน

​สำหรับคนที่ยังไม่ได้ออกไปลงทุนต่างประเทศจริง ๆ จัง ๆ แต่กำลังคิดที่จะไปเพราะเริ่มตระหนักว่า การลงทุนเฉพาะในประเทศไทยนั้น ไม่เพียงพอสำหรับการลงทุนที่จะสร้างผลตอบแทนหรือความมั่งคั่งหรือความมั่นคงทางด้านการเงินเพื่อทำให้ตนเองมีอิสรภาพทางการเงินเพื่อการเกษียณอย่างมีความสุขนั้น ถึงวันนี้ดูเหมือนว่าเส้นทางการลงทุนในต่างประเทศด้วยตนเองนั้น ถูก “ปิด” ลงไปแล้ว แม้ว่าเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวจะยังต้องมีการกำหนด “รายละเอียด” อีกมากมายก่อนถึงวันกำหนดใช้

ประเด็นก็คือ ต่อให้หลักเกณฑ์หรือวิธีการกำหนดว่าจะต้องเสียภาษีอย่างไรชัดเจนขึ้น และอาจจะช่วยบรรเทาความยุ่งยากในการกำหนดจำนวนภาษีที่จะต้องจ่ายอย่าง “ยุติธรรม” ขึ้น แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอนาคตจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแบบ “กระทันหัน” อีก และอาจจะกระทบกับคนที่คิดว่าเขานำเงินออกไปลงทุนเพราะพอใจกับเกณฑ์ดังกล่าวนั้น พูดง่าย ๆ แนวทางที่รัฐบาลทำอยู่นั้น ได้เพิ่ม “Regulatory Risk” หรือ “ความเสี่ยงในด้านการออกกฎเกณฑ์” ของประเทศ ที่ทำให้นักลงทุนไม่อยากมาลงทุนถ้าหุ้นไม่ดีหรือไม่ถูกจริง ๆ ซึ่งนั่นก็จะทำให้การระดมทุนของตลาดทุนด้อยประสิทธิภาพลง

​จริงอยู่ที่การลงทุนต่างประเทศสำหรับนักลงทุนรายบุคคลยังเป็นไปได้โดยการลงทุนผ่านกองทุนรวมและเครื่องมือเช่น DR หรือ ETF ที่ออกในประเทศไทยและเป็นเหมือนตัวแทนของหุ้นหรือหลักทรัพย์ในต่างประเทศได้ โดยที่ไม่ต้องเสียภาษีและถูกตีความเหมือนการลงทุนในตลาดหุ้นไทย แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับบริษัทหลักทรัพย์ที่จะเป็นคนเลือกหุ้นหรือกองทุนรวมในต่างประเทศที่เขาคิดว่าเหมาะสมในการลงทุนสำหรับบุคคลทั่วไป และก็มีจำนวนหุ้นและกองทุนที่จำกัดมากและก็มักจะเป็นหุ้นตัวใหญ่มากที่มักจะให้ผลตอบแทนแค่ “ดีพอใช้” ในระยะยาว

แต่สำหรับคนที่เป็น “VI ผู้มุ่งมั่น” หรือเป็นนักลงทุนที่มีความรู้และชาญฉลาดและอยากสร้างความมั่งคั่งเพื่อชีวิตโดยการลงทุนด้วยตนเองแล้ว การ “ตัด” ช่องทาง การลงทุนในตลาดหุ้นอื่น ๆ ทั่วโลกอันเนื่องจากอัตราภาษีที่หนักเกินกว่าที่จะรับได้ ก็เหมือนกับการ “ประหาร” ชีวิตการเป็นนักลงทุนของพวกเขา มันคงคล้าย ๆ กับคนที่เป็นนักการเมืองโดยชีวิตจิตใจที่ถูกโทษตัดสิทธิห้ามมีตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต

แล้วคนที่เป็น VI ผู้มุ่งมั่นและได้ออกไปลงทุนในต่างประเทศ บางคนไปถึงครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าของความมั่งคั่งรวมอยู่แล้วจะทำอย่างไร? ที่ยิ่งหนักก็คือ ไปมานานหลายปีและมีกำไรที่ยังไม่ได้ขายมากอยู่แล้วจะทำอย่างไร?

คงไม่มีทางออกแบบเดียวสำหรับทุกคน เพราะแต่ละคนก็อยู่ในสถานะที่แตกต่างกันมาก เช่น 1) ขนาดของพอร์ตหุ้นต่างประเทศไม่เท่ากัน คนที่มีพอร์ตขนาดใหญ่ก็จะปรับได้ยากกว่าคนที่พอร์ตเล็ก 2) กำไรของพอร์ตที่มากหรือน้อย แต่ข้อนี้บางทีก็ต้องดูว่าข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนของหุ้นมีครบถ้วนมากน้อยแค่ไหน เพราะผมเชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่หรือแม้แต่โบรกเกอร์ก็อาจจะมีไม่ครบ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ หุ้นบางตัวก็มีการแจกหุ้นปันผลให้ เป็นต้น 3) ระยะเวลาที่เริ่มลงทุน ถ้าลงทุนมานานและมีการซื้อ ๆ ขาย ๆ และเปลี่ยนเป็นหุ้นตัวใหม่บ่อย ๆ รวมถึงในพอร์ตมีหุ้นจำนวนมาก แบบนี้ก็ทำให้ไม่รู้ว่าเมื่อเอาเงินกลับมาจะประสบกับปัญหาการจ่ายภาษีอย่างไร

นอกจากเรื่องสถานะของพอร์ตแล้ว ก็ยังขึ้นอยู่กับความสามารถและแนวทางการลงทุนของแต่ละคน ประกอบกับสภาวะของตลาดหลักทรัพย์ไทยว่าเขามีมุมมองอย่างไร ถ้าคนที่ไปลงทุนต่างประเทศแล้วพบว่า นั่นคือสิ่งที่เขาจะสามารถทำได้ดีกว่าการลงทุนอยู่แต่ในตลาดไทยมากในภาวะปัจจุบันและอนาคตอาจจะ 10 ปีข้างหน้า แบบนี้เจ้าตัวก็จะต้องคิดว่าตนจะยอมลงทุนเฉพาะในตลาดไทยแห่งเดียวและทิ้งตลาดหุ้นอื่นทั้งหมดหรือไม่ หรือจะต้องยอมลงทุนภายใต้ “ลมต้าน”ซึ่งก็คือต้นทุนทางด้านภาษีหรืออาจจะมีอุปสรรคอย่างอื่นในตลาดหุ้นต่างประเทศ เป็นต้น

ส่วนตัวผมเอง ในฐานะที่เป็น VI พันธุ์แท้ที่มุ่งมั่นที่ยึดหลักการ “ลงทุนเพื่อชีวิต” และได้ผ่านชีวิตการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมายาวนาน รวมถึงได้ไปลงทุนในต่างประเทศมาเกือบ 10 ปี แล้วด้วยขนาดพอร์ตล่าสุดประมาณ 30% ของความมั่งคั่งทั้งหมด มีความเห็นว่า ณ. เวลานี้ เราไม่สามารถที่จะลงทุนเฉพาะในประเทศไทยได้ การลงทุนในต่างประเทศสำหรับผมมีความสำคัญไม่น้อยกว่าประเทศไทยแล้ว อนาคตอาจจะสำคัญยิ่งกว่า ดังนั้น ยังไงก็ต้องลงทุนในต่างประเทศด้วย

ประการต่อมาก็คือ จะต้องลงทุนต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ และไม่นำเงินกลับมาเลยเพราะจะถูกเก็บภาษีซึ่งจะลดผลตอบแทนไปมาก การ “ทบต้น” เงินลงทุนไปเรื่อย ๆ นั้น มีโอกาสสูงที่พอร์ตนั้นจะโตขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงวันหนึ่งที่เราอาจจะจำเป็นต้องใช้มันจึงค่อยหาทางว่าจะนำมาใช้ได้อย่างไรที่จะเสียภาษีน้อยที่สุดหรือไม่เสียภาษีเลย เช่น อาจจะเป็นการใช้ในต่างประเทศโดยที่เงินไม่ต้องเข้าประเทศไทยก่อน อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้เรายังอาจจะไม่รู้ว่าทำได้หรือไม่ เพราะเกณฑ์ต่าง ๆ ยังไม่แน่นอน และอนาคตก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้อีก

ในอีกแนวทางหนึ่งก็คือ การยอมจ่ายภาษีรายได้จากปันผลและกำไรจากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ แต่ใช้วิธีบริหารภาษีให้ต้องจ่ายน้อยที่สุดและจ่ายช้าที่สุด เช่น ไม่ขายหุ้นบ่อยหรือขายหุ้นที่ขาดทุนมาชดเชยกำไรถ้าทำได้ในแต่ละปี เป็นต้น ซึ่งนี่ก็คล้าย ๆ กับสิ่งที่บัฟเฟตต์ทำนั่นก็คือ ทบต้นผลกำไรที่ยังไม่รับรู้ไปเรื่อย ๆ เพื่อชะลอการจ่ายภาษีไปให้ยาวนานที่สุด แต่ในที่สุดก็จะต้องจ่ายภาษีทั้งหมด แต่อาจจะจ่ายในอีกหลายสิบปีข้างหน้า ในระหว่างนั้น เงินหรือมูลค่าที่ยังค้างอยู่ในบริษัทก็สร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และนี่ก็คือโมเดลของเบิร์กไชร์ที่ทำมานานหลายสิบปีจนถึงวันนี้

ข้อที่ควรคำนึงสำหรับการปรับตัวรับกับอุปสรรคของการลงทุนครั้งนี้ก็คือ แนวโน้มของประเทศไทยที่อาจจะเริ่มเก็บภาษีมากขึ้นเรื่อย ๆ ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงได้ยาก และการเก็บนั้นก็จะเน้นไปที่ “คนมีเงิน” หรือทำเงินได้มากนั่นก็คือ กลุ่มคนที่ “ลงทุน” ในธุรกิจใหญ่ ๆ ซึ่งก็คือ บริษัทในตลาดหุ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น ถ้าเราเป็นคนไทยในที่สุดก็ “หนีไม่พ้น” แม้ว่านายกคนใหม่จะประกาศเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า จะไม่มีการเก็บภาษีหุ้น

ดังนั้น ผมเองคิดว่า ยุคทองของการลงทุนโดยเฉพาะของ VI ไทย ที่ทุกอย่างในประเทศและตลาดหุ้นไทยเอื้ออำนวยคงจะจบลงแล้ว ถ้าจะหา “สวรรค์ใหม่” ก็คงจะต้องไปลงทุนต่างประเทศและยอมเสียภาษีหุ้นเพิ่ม ซึ่งก็อาจจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนสุดยอดแบบที่เคยทำได้อีก

โลกในมุมมองของ Value Investor
23 กันยายน 2566
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

LATEST NEWS

“Smarthome” สมาร์ทโฮมยืนหนึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับทุกครอบครัว

เมื่อพูดถึงแแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เชื่อว่าใครหลายๆ คน คงจะนึกถึงแบรนด์ “Smarthome” เป็น 1 ในคำตอบในใจอย่างแน่นอน ด้วยจุดเด่นของสินค้าที่แข็งแรง ทนทาน ดีไซน์ทันสมัยและราคาที่สามารถเข้าถึงได้ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับแบรนด์ “Smarthome” กันให้มากยิ่งขึ้น

บิ๊กดีลสะเทือนวงการ! กรุงศรีฟินโนเวตจับมืออีฟราสตรัคเจอร์ เปิดฉากลงทุนมหาศาลปั้นกองทุนใหม่หนุนสตาร์ทอัพรายเล็กก้าวกระโดด พร้อมเปิด Accelerator ติดอาวุธเร่งสปีดสร้างการเติบโต

กรุงศรี ฟินโนเวต ร่วมกับ อีฟราสตรัคเจอร์ (Efra Structure) ของ ป้อม ภาวุธ ผู้บุกเบิกและคร่ำหวอดในวงการอีคอมเมิร์ซไทย เตรียมปั้นกองทุนยักษ์ “ฟินโน อีฟรา ไพรเวท อิควิตตี้ ทรัสต์” (Finno Efra Private Equity Trust) มุ่งลงทุนในสตาร์ทอัพไทยและอาเซียน งบประมาณมหาศาลกว่า 1,300 ล้านบาท (หรือกว่า 35 ล้านเหรียญสหรัฐ) ภายในระยะเวลา 4 ปี เผยเริ่มพูดคุยกับสตาร์ทอัพที่น่าสนใจแล้วราว 5-6 บริษัท พ่วงด้วยการเปิด Accelerator Program อย่างเป็นทางการ เพื่อปั้นสตาร์ทอัพระดับ Seed ถึง Pre-series A ให้เติบโตสู่ระดับ Series A ได้อย่างแข็งแกร่ง

SCB CIO มองตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน เมื่อเข้าสู่โค้งสุดท้ายเลือกตั้งสหรัฐฯ พอร์ตหลักแนะหุ้นกลุ่มเทคฯ-สุขภาพ- สาธารณูปโภค-ทองคำ ส่วนพอร์ตเสริมสะสมเวียดนาม

SCB CIO มองตลาดหุ้นโลกจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากสถิติชี้ว่า ดัชนี VIX  จะเร่งตัวขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วง 4 เดือนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ขณะที่สถิติในอดีตบ่งชี้ดัชนี S&P500 มีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงเดือนส.ค.- ก.ย. แนะกลยุทธ์ลงทุนในตลาดหุ้นเลือกหุ้นคุณภาพดีเติบโตสูงงบแข็งแกร่งยอดขายกำไรเติบโตยั่งยืนเช่นกลุ่มเทคโนโลยีพร้อมผสมผสานกับหุ้นกลุ่มที่มีความทนทานต่อภาวะตลาดผันผวนเช่นกลุ่มสาธารณูปโภค  สุขภาพและสินค้าจำเป็น พร้อมระวังลงทุนในหุ้นกลุ่มขนาดเล็กจากกำไรของกิจการของหุ้นขนาดเล็กค่อนข้างผันผวนและอิงกับเศรษฐกิจสหรัฐฯเป็นหลักซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วงของการชะลอตัวลง สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง-สูง แนะลงทุนหุ้นเวียดนามจากดัชนีฯที่ได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง

RELATED