นิสัย VI ผู้มุ่งมั่น – ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

นักลงทุนที่เป็น Value Investor หรือ VI นั้น มีหลาย “ระดับ” ของการเป็น “VI” ซึ่งมีนิยามอย่างสั้นที่สุดก็คือ “การลงทุนซื้อหุ้นจะซื้อเฉพาะหุ้นที่มี Intrinsic Value หรือมูลค่าที่แท้จริงสูงกว่าราคาตลาดของหุ้นมากพอที่จะทำให้มี Margin of Safety หรือส่วนเผื่อของความปลอดภัยในการลงทุน และขายหุ้นเมื่อราคาสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง”

ส่วนรายละเอียดว่าอะไรคือมูลค่าที่แท้จริง ประเมินอย่างไรและมีความแน่ใจแค่ไหน และมาร์จินออฟเซฟตี้ควรจะประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกันและแต่ละคนก็จะคิดไม่เหมือนกัน นอกจากนั้น กลยุทธ์การถือหรือซื้อขายหุ้น เช่นถือหุ้นจำนวนมากน้อยแค่ไหนหรือจะถือยาวแค่ไหน เช่นเดียวกับวิธีการค้นหาข้อมูลและประเมินศักยภาพของกิจการและผู้บริหาร ก็เป็นเรื่องที่มีความแตกต่างกันมากในหมู่ของนักลงทุนที่เรียกตัวเองว่าเป็น “VI”

จากการเป็น VI มายาวนานในตลาดหุ้นไทย และการศึกษา VI ที่ประสบความสำเร็จในระยะยาวที่มีชื่อเสียงระดับโลกรวมถึงวอเร็น บัฟเฟตต์ ผมเองรู้สึกว่า “VI ผู้มุ่งมั่น” หรือ VI ที่มีความทุ่มเทหรือยึดถือหลักการทาง VI “อย่างเคร่งครัด” นั้น มักจะตีตัวออกห่างจากสถานการณ์ของตลาดหลักทรัพย์ เช่นไม่รู้สึกตื่นเต้นกับราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นไปแบบ “ไร้เหตุผล” หรือ “บ้าคลั่ง” เช่นเดียวกับการที่ไม่ตกใจหรือไม่กลัวเวลาหุ้นตกลงไปอย่างแรง ไม่ว่าจะเป็นหุ้นรายตัวหรือดัชนีตลาดหลักทรัพย์

นอกจากนั้น พวกเขาก็ยังไม่ตื่นเต้นกับเรื่องราวหรือสตอรี่หรือ “ราคาคุย” ของผู้บริหาร รวมถึงนักวิเคราะห์และ “เซียน” หรือ “นักลงทุนรายใหญ่” ทั้งหลายที่อยู่ในตลาดหากมองและประเมินแล้วว่าไม่ได้มีตรรกะหรือเหตุผลที่เพียงพอ

โดยปกติแล้ว “ความเป็น VI” ของนักลงทุนนั้น ก็คงคล้ายกับเรื่องอื่น ๆ ที่ว่า ต้องอาศัยการปฏิบัติและเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะมีความเชี่ยวชาญ มีวินัย มีศรัทธาที่จะลงทุนในแบบหรือกลยุทธแบบ “VI ที่แท้จริง” มากขึ้นเรื่อย ๆ และมี “ข้อยกเว้น” น้อยลงเรื่อย ๆ

และต่อไปนี้ก็เป็นนิสัยหรือความคิดและการกระทำของผมที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเวลาของการเป็น VI เพิ่มขึ้น ซึ่งก็ต้องขอบอกก่อนว่า ไม่ได้หมายความว่าผมจะลงทุนได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นเมื่อเปลี่ยนมาเป็น VI ที่มุ่งมั่นมากขึ้น บางทีอาจจะได้ผลตอบแทนน้อยลงด้วยซ้ำแต่ความเสี่ยงอาจจะลดลง หรือ “ชีวิตโดยรวม” ซึ่งไม่ได้คิดแต่เรื่องการลงทุนเพียงอย่างเดียวอาจจะดีขึ้น อะไรทำนองนี้

เรื่องแรกที่ผมเปลี่ยนไปจากในช่วงแรกที่เป็น VI ก็คือ เรื่องที่กำลังร้อนแรงมากในช่วงเร็ว ๆ นี้นั่นก็คือ การเล่นหรือจองซื้อหุ้น IPO ซึ่งดูเหมือนจะเป็น “ที่รัก” ของนักลงทุนในตลาดหุ้นทุกคน เพราะจากสถิติก็คือ กำไรจากหุ้น IPO ในวันแรกของการเทรดนั้นน่าจะสูงกว่าการขาดทุนมาก-ตลอดกาล ว่าที่จริง ผมเองเริ่มลงทุนในตลาดหลักทรัพย์โดยการจองซื้อหุ้น IPO ที่ได้รับการจัดสรรจากบริษัทที่เอาหุ้นเข้าตลาดเมื่อหลายสิบปีก่อน ดูเหมือนว่าน้อยครั้งที่คนจะปฏิเสธการจองหุ้น IPO มีแต่อยากจะได้มากที่สุด

แต่ผมเองกลับเลิกจองหุ้น IPO มานานหลายปีแล้ว ทั้ง ๆ ที่บ่อยครั้งก็รู้สึกว่ากำไรมากแน่นอน เพราะดูจากอุตสาหกรรมที่กำลังร้อนแรง ตัวบริษัทที่เป็นผู้นำและมีขนาดของบริษัทที่เล็กมาก หุ้นมี Free Float ต่ำ ภาวะตลาดหลักทรัพย์มีการเก็งกำไรสูงมาก หุ้นมีโอกาสถูก “Corner” ตั้งแต่เทรดวันแรก แต่ผมก็ไม่จอง ผมคิดว่า IPO น่าจะเกือบทุกตัวนั้นมักมีราคาที่ตั้งไว้สูงกว่าพื้นฐานของหุ้น หรือที่เขาพูดกันว่า “It Probably Overpriced” และ “VI พันธุ์แท้” ไม่ควรซื้อหุ้นที่ราคาสูงกว่าพื้นฐานที่แท้จริง และก็ไม่ควรซื้อแม้ว่าในระยะเวลาอันสั้นราคาอาจจะสูงกว่าพื้นฐานมากขึ้นไปอีกมากซึ่งจะทำให้เราขายได้กำไรอย่างงดงาม

เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ผมคิดว่าถึงได้กำไร มันก็ไม่เปลี่ยนแปลงสถานะของพอร์ตหุ้นเราเลย เราอาจจะได้เงิน แต่เราก็อาจจะเสียศรัทธาและความเชื่อของเราต่อหลักการแบบ VI ที่เราสร้างมานาน

ช่วงการเป็น VI ใหม่ ๆ อาจจะเป็นกว่า 10 ปี เมื่อมองย้อนหลังกลับไป ผมน่าจะเป็นนักลงทุนที่เรียกว่า “Value Speculator” หรือนักเก็งกำไรโดยอาศัยหลักการเลือกและเล่นหุ้นที่เป็น “Value Stock” คือหุ้นที่มีราคาถูกกว่าพื้นฐานของกิจการ แต่จะเป็นการมองระยะสั้นและเน้นที่กำไรของบริษัทในระยะสั้น หุ้นเหล่านี้มักจะไม่ได้มีความเข้มแข็งมากนักแต่กำไรอาจจะกำลังเติบโตดี หุ้นมีขนาดเล็กที่ราคาอาจจะขึ้นไปได้เร็วเมื่อมีคนเข้ามาเล่น บางตัวก็ถูก Corner โดยนักลงทุนรายใหญ่ซึ่งทำให้ราคาวิ่งขึ้นไปมากมาย อย่างไรก็ตาม เวลาที่กำไรของบริษัทไม่เป็นไปตามคาดหรือเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ราคาก็ลงแรงพอกัน

ในระยะหลัง ๆ โดยเฉพาะที่พอร์ตมีขนาดใหญ่ขึ้น ผมก็เปลี่ยนเป็นการลงทุนแบบ VI ระยะยาวขึ้นและยาวขึ้น ลงทุนในหุ้นของกิจการที่จะอยู่อย่างมั่นคงปลอดภัยและเติบโตเร็วหรืออย่างน้อยก็เติบโตบ้างแบบช้า ๆ โดยไม่ค่อยสนใจว่างวดนี้หรืองวดหน้าหรือปีนี้หรือปีหน้ากำไรบริษัทจะโตพรวดหรือเปล่า เป็นการลงทุนที่ซื้อแล้วไม่มีเวลาที่คิดจะขาย แต่จะขายต่อเมื่อสิ่งที่เราคิดไว้ทีแรกเปลี่ยนไปแล้ว เช่น ธุรกิจหมดความสามารถในการแข่งขันหรือถูก Disrupt โดยเทคโนโลยีหรือรูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป เป็นต้น

การหาข้อมูลแบบ VI คือดูกิจการหรือเข้าไป Visit Company คุยกับผู้บริหารโดยตรงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เปลี่ยนไป ในอดีต บ่อยครั้ง ก่อนที่จะซื้อหุ้นผมมักจะอยากจะรู้จักหรือพูดคุยกับผู้บริหารรวมถึงการเข้าไปชมโรงงานหรือกิจการว่าเป็นอย่างไร ดูดีหรือไม่ นอกจากนั้น ถ้าบริษัทขายสินค้าให้กับผู้บริโภค ผมก็จะต้องวนเวียนคอยสังเกตดูว่ามีลูกค้าเข้าชมหรือซื้อสินค้าของบริษัทมากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็มักจะได้ผลดี ซื้อแล้วหุ้นก็มักจะขึ้น

ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะมี VI คนอื่นก็เข้าไปพบบริษัทและผู้บริหารและก็ซื้อหุ้นด้วยเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ต่อมาผมพบว่า เวลาเข้าไปพบบริษัท ข่าวก็คงออกมาและทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปก่อนที่เราจะซื้อ ทำให้ผมไม่อยากไป สุดท้าย ผมก็เลิกไปเลยเพราะดูแล้ว การเข้าไปเยี่ยมชมและฟังผู้บริหารก็อาจจะได้ข้อมูลที่ “ลำเอียง” ตอนหลังผมก็เลยดูจาก “ภายนอก” ดูจากข้อมูลทางตัวเลขและการวิเคราะห์ธุรกิจและอุตสาหกรรมซึ่ง “หลอกไม่ได้”

การวิเคราะห์ “ผู้บริหาร” นั้น ในอดีตผมจะเน้นในเรื่องความซื่อสัตย์มีจรรยาบรรณเป็นประเด็นสำคัญ อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของฝีมือหรือความสามารถทางการบริหาร ซึ่งผมก็มักจะดูจากการตัดสินใจต่าง ๆ เช่น การลงทุนและการจัดสรรเงินที่ได้จากธุรกิจว่ามีความเหมาะสมแค่ไหน โดยเฉพาะการจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ในส่วนของฝีมือในการบริหารนั้น บ่อยครั้งผมก็มักจะดูจากการพูดอธิบายกลยุทธ์ทางธุรกิจต่าง ๆ ของผู้บริหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายงานและการแข่งขันกับคู่แข่ง

บ่อยครั้งผมมักจะประทับใจกับผู้บริหารที่มีโครงการและแผนงานเต็มไปหมดพร้อม ๆ กับการคาดการณ์ผลประกอบการที่น่าประทับใจ พูดง่าย ๆ ชอบผู้บริหารที่ “ขี้คุย” แต่ในระยะหลัง ๆ ความคิดผมก็เปลี่ยนไป ผมคิดว่าผู้บริหารที่ “โอ้อวดเกินความจริง” นั้น ส่วนใหญ่แล้วก็เพื่อกระตุ้นให้คนซื้อหุ้นมากกว่าความเป็นไปได้ของการเติบโตของธุรกิจ ดังนั้น ผมมักจะหลีกเลี่ยงหุ้นที่ผู้บริหารคุยโม้มากเกินไป

กลยุทธการลงทุนของผมในอดีตนั้น เป็นแบบ “Bottom Up” หรือเน้นแต่การดูตัวบริษัทเป็นหลัก โดยที่ไม่ให้ความสนใจกับภาพใหญ่ทางธุรกิจเช่น ภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเลย นั่นอาจจะเป็นกลยุทธที่ได้ผลดีโดยเฉพาะในประเทศที่กำลังเติบโตระยะยาวไปเรื่อย ๆ อย่างในตลาดหุ้นสหรัฐหรือไทยในช่วงก่อนหน้านี้หลายปี

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ผมก็เริ่มเปลี่ยน ผมคิดว่าหลักการแบบ VI ที่มีกำเนิดจากอเมริกาและประวัติศาสตร์การลงทุนที่เราเรียนรู้จากอเมริกานั้น ถึงปัจจุบันอาจจะใช้ไม่ได้กับตลาดหุ้นไทยที่เศรษฐกิจอาจจะเติบโตช้าลงมาก และถ้าเรายังคิดและวิเคราะห์เฉพาะตัวกิจการ เราอาจจะพลาดและติดหล่มอยู่ใน “หลุมทรายดูด” ได้ เพราะตัวบริษัทอาจจะไม่อยู่ในสภาวะที่จะเติบโตได้ดีแม้ว่าจะเก่งที่สุดแล้ว

โลกในมุมมองของ Value Investor

28 มกราคม 2566

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

LATEST NEWS

“Smarthome” สมาร์ทโฮมยืนหนึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับทุกครอบครัว

เมื่อพูดถึงแแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เชื่อว่าใครหลายๆ คน คงจะนึกถึงแบรนด์ “Smarthome” เป็น 1 ในคำตอบในใจอย่างแน่นอน ด้วยจุดเด่นของสินค้าที่แข็งแรง ทนทาน ดีไซน์ทันสมัยและราคาที่สามารถเข้าถึงได้ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับแบรนด์ “Smarthome” กันให้มากยิ่งขึ้น

บิ๊กดีลสะเทือนวงการ! กรุงศรีฟินโนเวตจับมืออีฟราสตรัคเจอร์ เปิดฉากลงทุนมหาศาลปั้นกองทุนใหม่หนุนสตาร์ทอัพรายเล็กก้าวกระโดด พร้อมเปิด Accelerator ติดอาวุธเร่งสปีดสร้างการเติบโต

กรุงศรี ฟินโนเวต ร่วมกับ อีฟราสตรัคเจอร์ (Efra Structure) ของ ป้อม ภาวุธ ผู้บุกเบิกและคร่ำหวอดในวงการอีคอมเมิร์ซไทย เตรียมปั้นกองทุนยักษ์ “ฟินโน อีฟรา ไพรเวท อิควิตตี้ ทรัสต์” (Finno Efra Private Equity Trust) มุ่งลงทุนในสตาร์ทอัพไทยและอาเซียน งบประมาณมหาศาลกว่า 1,300 ล้านบาท (หรือกว่า 35 ล้านเหรียญสหรัฐ) ภายในระยะเวลา 4 ปี เผยเริ่มพูดคุยกับสตาร์ทอัพที่น่าสนใจแล้วราว 5-6 บริษัท พ่วงด้วยการเปิด Accelerator Program อย่างเป็นทางการ เพื่อปั้นสตาร์ทอัพระดับ Seed ถึง Pre-series A ให้เติบโตสู่ระดับ Series A ได้อย่างแข็งแกร่ง

SCB CIO มองตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน เมื่อเข้าสู่โค้งสุดท้ายเลือกตั้งสหรัฐฯ พอร์ตหลักแนะหุ้นกลุ่มเทคฯ-สุขภาพ- สาธารณูปโภค-ทองคำ ส่วนพอร์ตเสริมสะสมเวียดนาม

SCB CIO มองตลาดหุ้นโลกจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากสถิติชี้ว่า ดัชนี VIX  จะเร่งตัวขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วง 4 เดือนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ขณะที่สถิติในอดีตบ่งชี้ดัชนี S&P500 มีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงเดือนส.ค.- ก.ย. แนะกลยุทธ์ลงทุนในตลาดหุ้นเลือกหุ้นคุณภาพดีเติบโตสูงงบแข็งแกร่งยอดขายกำไรเติบโตยั่งยืนเช่นกลุ่มเทคโนโลยีพร้อมผสมผสานกับหุ้นกลุ่มที่มีความทนทานต่อภาวะตลาดผันผวนเช่นกลุ่มสาธารณูปโภค  สุขภาพและสินค้าจำเป็น พร้อมระวังลงทุนในหุ้นกลุ่มขนาดเล็กจากกำไรของกิจการของหุ้นขนาดเล็กค่อนข้างผันผวนและอิงกับเศรษฐกิจสหรัฐฯเป็นหลักซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วงของการชะลอตัวลง สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง-สูง แนะลงทุนหุ้นเวียดนามจากดัชนีฯที่ได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง

RELATED