ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค.2566 ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยมูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำปรับลดลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว หลังจากที่หมวดสินค้าคงทนได้เร่งไปในช่วงก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ภาคบริการปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ สำหรับการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงทั้งในหมวดพลังงานและอาหารสด จากผลของฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับราคาอาหารสดลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ลดลงตามราคาอาหารสำเร็จรูปจากผลของฐานสูงในปีก่อนเช่นกัน
ด้านตลาดแรงงานโดยรวมปรับเข้าสู่ระดับ เดียวกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากดุลการค้า ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน เกินดุลเล็กน้อย
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเฉลี่ยอ่อนค่า เนื่องจากตลาดเพิ่มการคาดการณ์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐในช่วงต้นเดือน มี.ค. ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของเดือน เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนจากความกังวลต่อปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก
ส่วนในไตรมาส 1/2566 เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวไทย และต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเป็นแรงส่งสำคัญ ทำให้ภาคบริการและเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น
ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุน ภาคเอกชน
สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน
ทางด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อนเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามภาวะ เศรษฐกิจ
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้น ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลการค้า เกินดุลใกล้เคียงไตรมาสก่อน