ธนาคารกลางของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเริ่มหยุดพักการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หลังจากที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก พยายามเดินตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างมุ่งมั่นและรวดเร็วเมื่อปีที่แล้ว
ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคนี้จะคงยืนอยู่เหนือเป้าของธนาคารชาติในแต่ละประเทศเป็นอย่างมาก แต่ภารกิจในการหาจุดสมดุลระหว่างการขยายตัวของเศรษฐกิจและการอ่อนค่าของสกุลเงินของตน ซึ่งเป็นปัญหาที่ดูเหมือนจะค่อยๆ ผ่อนคลายลง หลังจากที่เงินดอลลาร์ได้วิ่งขึ้นไปจนแข็งค่ามากที่สุดเมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว
ภาพแนวโน้มล่าสุดของดอลลาร์สหรัฐ คือ คงจะอ่อนตัวลงเล็กน้อยตามการคาดการณ์ของตลาดที่ว่าเฟดคงจะหยุดพักรอบการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา
นอกจากนั้น ปัญหาเงินเฟ้อในภูมิภาคนี้ดูเหมือนจะไม่เป็นเรื่องที่ยืดเยื้อแก้ได้ยากเหมือนอย่างในสหรัฐหรือยุโรป
เฮเลน เฉียว หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ Bank of America เชื่อว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในประเทศเกิดใหม่ในเอเชียน่าจะ “ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดแล้ว และน่าจะกำลังเริ่มหาจังหวะค่อยๆ กลับมาใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินโดยหันมาปรับลดดอกเบี้ย”
นักวิเคราะห์ของธนาคาร Citi และ ING คือกลุ่มที่เชื่อว่ารอบการผ่อนคลายนโยบายการเงินในภาคพื้นเอเชียอาจมีเริ่มขึ้นได้ในช่วงหลังของปีนี้
ทั้งนี้ จีนและญี่ปุ่น คือ 2 ประเทศ ที่ไม่ได้เดินตามกระแสส่วนใหญ่ในด้านนโยบายการเงินของเอเชีย
ธนาคารกลางดังต่อไปนี้ในเอเชียที่ได้เริ่มแตะเบรกในเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ย และสิ่งที่พวกเขาอาจจะทำต่อไปในช่วงเวลาข้างหน้า
เกาหลีใต้ คือ ประเทศแรกที่ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อน หลังจากที่ก่อนหน้านี้เป็นประเทศแรกที่ได้ปรับดอกเบี้ยขึ้นไปในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ เกาหลีใต้อาจจะเป็นประเทศแรกที่จะเป็นผู้นำในการปรับลดดอกเบี้ยในรอบใหม่ในภูมิภาคนี้
ก่อนหน้านี้ในปี 2022 เกาหลีใต้ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันรวมทั้งหมด 7 ครั้ง
ธนาคารกลางออสเตรเลีย ทำให้ตลาดเซอร์ไพรส์ โดยให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.6% ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นการหยุดพักการปรับขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน พ.ค. ปีที่แล้ว
ขณะนี้ดอกเบี้ยนโยบายของออสเตรเลีย ยืนอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค.2012
ธนาคารกลางอินเดียให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 6.5% ในเดือนนี้ ถึงแม้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% อีกครั้งหนึ่ง
ผู้ว่าธนาคารกลางของอินเดียปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในช่วง 12 เดือนข้างหน้าว่าจะอยู่ที่ 5.2% ลดลงมาจาก 5.3% ที่คาดไว้ก่อนหน้า
ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.75% ในการประชุมครั้งล่าสุด โดยระบุว่าดอกเบี้ยปัจจุบันน่าจะสามารถช่วยคุมเงินเฟ้อให้อยู่ช่วง 2-4% ในปีนี้ได้
แบงก์ชาติสิงคโปร์เพิ่งให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อวันศุกร์นี้เอง โดยเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของปีนี้น่าจะยังอยู่ในกรอบ 3.5-4.5%