ปรากฎการณ์ “น่าทึ่ง” ของตลาดหลักทรัพย์เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนก็คือ หุ้น DELTA ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับอิเลกทรอนิกส์และระบบสำรองไฟฟ้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นรวมถึงในการผลิตรถที่ใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต มีราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงมาก โดยวันที่ 29 มีนาคม 2566 ปรับตัวขึ้น 2.86% วันที่ 30 ราคาวิ่งขึ้นไปถึง 9.35% ซึ่งทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องถามว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับบริษัทซึ่งก็ได้รับคำตอบว่าไม่มีอะไร และถึงวันที่ 31 ราคาก็ยังปรับตัวขึ้นต่ออีก 3.82% รวมแล้วภายในเวลา 3 วันทำการ ราคาหุ้น DELTA ปรับตัวขึ้นไปจาก 978 บาทต่อหุ้นเป็น 1,142 บาท คิดเป็น 16.8% ทำให้บริษัทมีมูลค่าหุ้นหรือ Market Cap. ถึง 1,424,509 ล้านบาท และกลายเป็นหุ้นที่ใหญ่หรือมีมูลค่าสูงที่สุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยหุ้นที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 มีมูลค่าน้อยกว่าประมาณ 30%
ที่จริงหุ้น DELTA เมื่อ 3-4 ปี ก่อนนั้น ยังเป็นหุ้น “ขนาดกลาง” ที่แทบไม่มีใครสนใจที่จะเข้าไปลงทุนหรือเข้าไปเล่น Market Cap. ของบริษัทเท่ากับ 66,734 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2562 เป็นบริษัทลูกของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการส่งออกแทนบริษัทแม่ อาจจะเนื่องจากการผลิตที่ประเทศไทยอาจจะได้ต้นทุนที่ต่ำกว่า บริษัทมียอดขายในปี 2562 ที่ 51,800 ล้านบาท กำไร 2,960 ล้านบาท กำไรต่อยอดขาย 5.7%
ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับหุ้นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมอื่น ๆ แต่ก็ไม่มีใครอยากลงทุน เพราะนี่คือ “หุ้นโรงงาน” ที่ขายสินค้าให้อีกโรงงานหนึ่ง ที่มักจะไม่ค่อยมีอำนาจทางการตลาดหรือความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่าคู่แข่งอื่นที่ผลิตชิ้นส่วนและมักจะขายไปทั่วโลกเหมือนกัน มองในแง่ของการลงทุนระยะยาวแล้ว บางคนก็ยังกลัวว่า วันหนึ่งถ้าคนไทยรวยขึ้น การเป็นฐานการผลิตสินค้าก็อาจจะโตหรืออยู่ได้ยาก เพราะอาจจะมีประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าอย่างเช่นเวียตนามมาแข่งได้
แต่แล้ว “ปาฏิหาริย์” ก็เกิดขึ้นเมื่อโลกต้องเผชิญกับโรคโควิด-19 ที่เริ่มรุนแรงในปี 2520 หรือปี 2563 ซึ่งส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลมากขึ้น เช่นเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้าที่บังเอิญเติบโตขึ้นมากในเวลาเดียวกัน นอกจากนั้น โควิดยังก่อให้เกิดการขยายตัวของเม็ดเงินสภาพคล่องในตลาดอย่างมหาศาลอานิสงค์จากการที่รัฐบาลทั่วโลกอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อต่อต้านการตกต่ำของเศรษฐกิจที่อาจจะตามมาจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งนั่นก็ส่งผลต่อตลาดหลักทรัพย์โดยเฉพาะต่อราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องดังกล่าว เพราะเงินสภาพคล่องเหล่านั้นต่างก็เข้ามาซื้อขายหุ้นเพื่อเก็งกำไรกันอย่าง “บ้าคลั่ง” ตั้งแต่กลางปี 2020 และต่อมาจนถึงสิ้นปี 2021 ซึ่งทำให้หุ้นดิจิทัลรวมถึงหุ้นเทสลาปรับตัวขึ้นไปมหาศาล
หุ้น DELTA ดูเหมือนว่าจะอยู่ในกลุ่มที่ได้ประโยชน์อย่างชัดเจน เพราะส่งอุปกรณ์และชิ้นส่วนป้อนให้กับผู้ซื้อรายใหญ่ระดับโลกที่กำลังต้องการสินค้าที่ “ขาดตลาด” เนื่องจากหลายประเทศเช่น จีน ต้องปิดโรงงานเพื่อหนีโควิด ยอดขายของ DELTA ในปี 2520 หรือปี 2563 เพิ่มขึ้น 23% แต่กำไรโตก้าวกระโดด จาก ประมาณ 3,000 ล้านบาทเป็น 7,000 ล้านบาท เพราะมาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายปรับตัวขึ้นจาก 5.7% ซึ่งน่าจะเป็นอัตราปกติ เป็น 11% เพราะสินค้าในตลาดขาดแคลนหนัก
หุ้น DELTA ที่เคยเงียบเหงามาน่าจะเป็นสิบ ๆ ปี จึงถูก “กวาดซื้อ” จากนักลงทุนซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นต่างชาติ และเนื่องจากเป็นหุ้นที่มีฟรีโฟลทหรือสภาพคล่องในการซื้อขายน้อย ทำให้ราคาหุ้น “วิ่งระเบิด” Market Cap. พุ่งขึ้นไปจากประมาณ 66,700 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2562 เป็น 606,000 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2563 หรือโตขึ้น 9 เท่าในเวลาเพียงปีเดียว และกลายเป็นบริษัท “Top Ten” ของไทย คล้าย ๆ กับหุ้นเทสลาที่โตเร็วพอ ๆ กันในตลาดหุ้นอเมริกา
ปี 2564 ยังเป็นปีที่ตลาดหุ้นและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลยังคงมีการเก็งกำไรกันอย่าง “บ้าคลั่ง” หรือมากกว่าเดิมเพราะโควิด-19 ยังรุนแรงเหมือนเดิม เช่นเดียวกับสภาพคล่องทางการเงิน รวมถึงการที่นักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยที่เข้าสู่ตลาดหุ้นผ่านแพลทฟอร์มดิจิทัลรุ่นใหม่ที่มีต้นทุนในการซื้อขายหุ้นต่ำมาก หุ้นและทรัพย์สินดิจิทัลปรับตัวขึ้นสู่ “พีก” หรือจุดสุดยอดใหม่ “กูรู” และ “นักทำนายอนาคต” ต่างก็ประกาศว่า “โลกใหม่” มาถึงแล้ว และมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทจากเฟซบุคเป็น “เมตาเวอร์ส” หรือ “โลกเสมือน” ที่ทุกอย่างเป็นดิจิทัล
รายได้ปี 2564 ของ DELTA เพิ่มขึ้น 33% เป็น 84,814 ล้านบาท แต่กำไรกลับลดลง 6% เหลือ 6,699 ล้านบาท เนื่องจากอัตรากำไรต่อยอดขายลดลงจากที่เคยสูงถึง 11% ลดลงเหลือ 7.9% ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่คู่แข่งเริ่มเข้ามามากขึ้น อาจจะเนื่องจากเพราะมีการเปิดโรงงานได้มากขึ้นแล้วจากมาตรการที่เคยเข้มงวดมากในจีน และนั่นทำให้นักลงทุนขายหุ้น DELTA ออกมาบ้าง Market Cap. ของหุ้นลดลงเหลือ 514,000 ล้านบาทหรือลดลงประมาณ 15% อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่านักลงทุนที่เข้ามาเล่นในลักษณะ Corner หุ้นตัวนี้ก็ยังไม่ได้ถอย เพราะราคาหุ้นระดับนี้ยังทำให้ค่า PE สูงถึง 83 เท่า ค่า PB สูงถึง 13 เท่า ในขณะที่ “หุ้นโรงงาน” ทั่ว ๆ ไปนั้น ค่านี้มักไม่เกิน 2-3 เท่าเป็นอย่างมาก
ปี 2565 หรือ 2022 เป็นปีที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “อวสานของการเก็งกำไร” หรืออวสานของเหรียญและหุ้นดิจิทัลหรือหุ้นไฮเท็ก เพราะทรัพย์สินเหล่านั้นมีราคาตกลงมาหลายสิบเปอร์เซ็นต์จากจุดสูงสุด เหตุผลก็คงเป็นเรื่องที่โควิด-19 เริ่มสงบลง สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เริ่มช่วงต้นปีเริ่มส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้รัฐทั้งหลายต้องต่อสู้กับ “ศัตรูตัวใหม่” โดยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นและสินทรัพย์โดยเฉพาะดิจิทัล “วาย”
แต่กิจการของ DELTA ไม่ได้ลดลง ยอดขายกลับเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมเป็นประมาณ 120, 000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 40% เช่นเดียวกับกำไรที่เพิ่มขึ้นเป็น 15,344 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 129% จากปี 2564 เนื่องจากมาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายของสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 12.8% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการสินค้าของบริษัทนั้นยังมีสูงมาก
และนั่นก็ทำให้นักลงทุนกลับเข้ามาซื้อหุ้น DELTA กันอย่างหนักทั้ง ๆ ที่ภาวการณ์เก็งกำไรในตลาดหุ้นไทยเริ่มชะลอตัวลงมาเรื่อย ๆ ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ต่อวันลดลงมาก ไม่ต้องพูดถึงการเก็งกำไรโดยวิธี Corner หุ้นที่ลดลงมาก หุ้นหลายตัวดูเหมือนว่า Corner จะเริ่มทยอย “แตก” เมื่อผลประกอบการเริ่มแสดงให้เห็นว่าลดลงหรือไม่โตอย่างที่คิดแล้ว แต่หุ้น DELTA นั้น กลับดีขึ้นอีก ดังนั้น คนก็แห่กันเข้าเล่นหุ้นจำนวนน้อยที่เหลืออยู่ที่คนยังมีความมั่นใจสูง Market Cap. เมื่อตอนสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 1,035,000 ล้านบาท เป็นหุ้นในระดับ “TOP 3” ของตลาด แต่ถ้าวัดจากรายได้หรือแม้แต่กำไรในปีที่ “ปกติ” ก็ยังไม่ใช่หุ้นตัวใหญ่
ประเด็นสำหรับนักลงทุนก็คือ ด้วย Market Cap. ระดับ 1,400,000 ล้านบาทในวันนี้และเป็นหุ้นใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์นั้น เป็นราคาที่สมเหตุผลไหมมองในแง่ของพื้นฐานของกิจการ? หุ้นตัวนี้แท้จริงแล้วเป็นหุ้นที่ถูก Corner หรือไม่? และถ้าเป็น จะ “แตก” เมื่อไร?
ในความเห็นของผม ผมคิดว่าหุ้นตัวนี้น่าจะอยู่ใน Corner มองจากราคาหุ้นที่สูงมากเกินกว่า “คุณภาพ” ของกิจการนั่นคือ มันมีค่า PE ปกติสูงถึง 93 เท่า ค่า PB 26 เท่า สูงกว่าลักษณะหรือคุณสมบัติของธุรกิจที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนสินค้าอุตสาหกรรมขั้นกลางที่ไม่ได้มีเทคโนโลยีระดับต้น ๆ ของโลกอย่างกรณีของหุ้น TSMC ของไต้หวัน ดังนั้น ค่า PE ที่เหมาะสมไม่น่าจะสูงกว่า PE เฉลี่ยของตลาดที่ไม่เกิน 20 เท่า
และถ้าจะพูดในด้านของการเติบโตของกำไรแล้ว ผมก็คิดว่า กำไรในระยะยาวก็คงไม่โตเร็วเหมือนเดิมที่เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่สมดุลของ Demand-Supply ของโลก “ชั่วคราว” ผมเชื่อว่าภายในเวลาไม่เกิน 2-3 ปี ทุกอย่างจะกลับมาสู่ภาวะปกติซึ่งรวมถึงกำไรต่อยอดขายที่ประมาณไม่เกิน 7-8% ซึ่งจะกระทบถึงกำไรของกิจการที่จะโตช้าหรือถดถอยลง ซึ่งนั่นก็เสี่ยงที่จะทำให้ Corner “แตก” และราคาหุ้นตกเป็น “หายนะ” ได้