เสือร้องไห้ | ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

การปิดกองทุน “เฮดจ์ฟันด์” ซึ่งน่าจะเป็นกองแรก ๆ ของไทยซึ่งนักลงทุนจำนวนมากก็อาจจะ “เพิ่งรู้จัก” ตอนที่ประกาศปิด คือ “กองทุนต้นโพธิ์” ทำให้ผมระลึกถึงกองทุน “เฮดจ์ฟันด์” กองแรก ๆ ของโลกคือกองทุน “Tiger Fund” ของ Julian Robertson นักลงทุน “ในตำนาน” ของเฮดจ์ฟันด์ซึ่งเพิ่งจะเสียชีวิตในวัย 90 ปี เมื่อ 2 ปีก่อน

​ข้อแรกก็คือ ไทเกอร์ฟันด์ก่อตั้งขึ้นในปี 1980 ที่คนก็ยังแทบไม่รู้จักเฮดจ์ฟันด์ โดยช่วงที่ก่อตั้งนั้นใช้เงินของครอบครัวบวกกับญาติและมิตรสหายแค่ 8 ล้านดอลลาร์ แต่พอถึงปี 1998 ก่อนปิดกองทุนในปี 2000-01 พอร์ตก็ขึ้นถึงจุดสูงสุดและมีมูลค่ากว่า 7 พันล้านเหรียญ กลายเป็นเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ให้ผลตอบแทนทบต้นต่อปีถึง 32% หลังหักค่าธรรมเนียม ในเวลายาวนานถึง 18 ปี

​เท่าที่ผมทราบอย่างไม่เป็นทางการ กองทุนต้นโพธิ์เปิดในปี 2548 และก็เริ่มต้นลงทุนด้วยเม็ดเงินของครอบครัวผู้ก่อตั้งญาติสนิทและมิตรสหายเหมือนกัน และในช่วงเวลาประมาณ 14-15 ปีก่อนที่จะปิดตัวในปีนี้คือน่าจะประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว กองทุนก็น่าจะมีพอร์ตในระดับ “หมื่นล้านบาท” สร้างผลตอบแทนทบต้นต่อปีสูงมาก อาจจะปีละหลายสิบเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน

​ข้อสอง Robertson เป็นนักลงทุนแบบ “VI เข้มข้น” ในช่วงที่บัฟเฟตต์ซึ่งเป็นคนรุ่นเดียวกันกำลังพุ่งขึ้นแรงติดอันดับคนรวยที่สุดของประเทศและแนวคิด “Value Investments” กำลังเป็นที่นิยมและ “ร้อนเป็นไฟ” อานิสงค์จากการที่บัฟเฟตต์บอกสังคมว่าตนเองเป็น “VI”

​กองทุนต้นโพธิ์เองนั้น ก็น่าจะบริหารด้วยแนวคิดแบบ “VI” เหมือนกัน เห็นได้จากการที่กองทุนมักจะถือหุ้น “VI” จำนวนมากและหลาย ๆ ตัวนั้นก็เป็นตัวเดียวกับที่ “เซียน VI” ชื่อดังและ “พอร์ตใหญ่” ของตลาดหุ้นไทยถือ

​ข้อ 3 ช่วงที่บูมสุดขีดของ Tiger Fund น่าจะประมาณปี 1994-1998 ซึ่งเป็นช่วงท้ายของกองทุนนั้น ดัชนีดาวโจนวิ่งขึ้นไปเป็น “กระทิง” คือขึ้นไปจากประมาณ 3,600 จุด เป็น 9,000 จุดเป็นการปรับตัวขึ้นไป 149% หรือเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 26% ในเวลา 4 ปี เป็น ปีทองของตลาดหุ้นและน่าจะเป็น “ปีทองของหุ้น VI” ในอเมริกา

​กองทุนต้นโพธิ์เองนั้น วันที่ก่อตั้งดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 700 จุด และในช่วงที่เป็น “ยุคทองของ VI” คือหลังจากปี 2551 ที่เกิดวิกฤติซับไพร์ม และดัชนีหุ้นตกลงมาถึงประมาณ 400-500 จุดแล้วก็เด้งขึ้นอย่างแรงติดต่อกันประมาณ 4 ปี จนถึงปี 2556 ที่ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นเป็นประมาณ 1,600 จุด เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 300% หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 34% และนั่นก็น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ทำให้กองทุนต้นโพธิ์เติบโตโดดเด่นที่สุด เช่นเดียวกับนักลงทุน VI ส่วนบุคคลที่ร่ำรวยและหลายคนกลายเป็น “เซียน VI” ในยุคนั้น

​ข้อ 4 กองทุน Tiger ล่มสลายในปี 2000 ต่อ 2001 โดยที่เป็นปีวิกฤติหุ้นไฮเท็ค อย่างไรก็ตาม กองทุน Tiger นั้นเป็นกองทุน “VI” และก็ถือหุ้นไฮเท็คน้อยและไม่ได้ขาดทุนหนักจากไฮเท็ค แต่ประสบกับปัญหาความผิดพลาดครั้งใหญ่ในการลงทุน เฉพาะอย่างยิ่งถือหุ้น US Airways ซึ่งเป็นสายการบินจำนวนมหาศาลถึง 25% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัทและหุ้นตัวนั้นประสบปัญหาใหญ่ล้มละลายในที่สุด และอีกประเด็นหนึ่งก็คือ ขาดทุนจากค่าเงินเยนซึ่งช่วงนั้นผันผวนหนัก

​กองทุนต้นโพธิ์นั้น ผมเชื่อว่ามีการลงทุนแบบ VI ที่ “Focus” มาก คือถือหุ้นใหญ่ ๆ ไม่กี่ตัวและมีสัดส่วนมากของพอร์ต นี่ก็เป็นกลยุทธ์ที่ “เซียน VI” แทบทุกคนในประเทศไทยใช้ ซึ่งก็ทำให้หลายคน “รวยไปเลย” ในยามที่บรรยากาศของการเก็งกำไร “ร้อนแรงเป็นไฟ” อย่างที่เห็นในช่วงหลายปีก่อนจนถึงเมื่อเร็ว ๆ นี้

​ข้อ 5 เมื่อปิดกองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิหรือ NAV ของกองทุน Tiger ลดลงมากมาย เหลือแค่ 1.3 พันล้านเหรียญ ทำให้คนถือหน่วยขาดทุนอย่างหนักจากที่กองทุนเคยมีกำไรสูงถึง 2 พันล้านเหรียญในช่วงเวลาหนึ่ง และนั่นก็คือ “หายนะ” ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

​กองทุนต้นโพธิ์นั้น ดูเหมือนว่าการปิดกองทุนเป็นไปอย่างช้า ๆ และน่าจะมีการคิดคำนึงมานานพอสมควรว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่ตลาดหุ้นไม่ได้ไปไหนมานานและโอกาสที่จะดีขึ้นนั้นน้อย ดังนั้น การลงทุนต่อไปก็คงจะไม่เกิดผลดีต่อผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งก็รวมถึงผู้บริหารและครอบครัวด้วย

ดังนั้น มูลค่าของสินทรัพย์สุทธิที่เหลืออยู่ตามข่าวที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท จากที่ผมคาดเดาว่าน่าจะเคยอยู่ถึงหลักเกือบหมื่นล้านบาทจึงน่าจะพูดได้ว่าไม่ถึงกับ “หายนะ” และก็ยังน่าจะสูงกว่าเม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนในวันแรกเมื่อประมาณ 19-20 ปีที่แล้ว

​เม็ดเงินที่ “หายไป” นั้น ผมไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร แต่ก็คาดว่าเป็นการผิดพลาดในการลงทุนครั้งใหญ่

ในหุ้นบางกลุ่มหรือบางตัว ซึ่งมาพบภายหลังว่าหุ้นอาจจะไม่ได้ดีอย่างที่คิดและเมื่อยุคของ “การเก็งกำไรในหุ้น VI” ที่ดำเนินมาต่อเนื่องหลายปีจบลง คอร์เนอร์หุ้น “แตก” การขาดทุนก็รุนแรงมากและดูเหมือนว่าจะฟื้นตัวได้ยาก พอร์ตจึงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และสถานการณ์การลงทุนแบบเดิมคงไม่กลับมาอีก หนทางที่ดีที่สุดคือการปิดตัวลง

​ข้อ 6 ผู้บริหารกองทุน Tiger คือ Robertson ไม่ได้ “เจ๊ง” ตามกองทุนไปด้วย เขายังมีเงินส่วนตัวที่ได้รับจากการบริหารกองทุนเกือบทุกปี ว่าที่จริง ในรอบ 20 ปีนั้น มีเพียง 4 ปีที่พอร์ตลงทุนขาดทุน ดังนั้น เขาคงได้ส่วนแบ่งกำไรมาค่อนข้างมากและดังนั้นเขาก็ “สู้ต่อ” โดยการสนับสนุนลูกน้องในบริษัทออกไปตั้งกองทุนหลาย ๆ กองที่ต่อมาเรียกว่า “กองทุนลูกเสือ” หรือ “Tiger Cub” โดยที่เขาเข้าไปร่วมลงทุนและเป็นที่ปรึกษาในบริษัทจัดการกองทุนแต่ละบริษัทด้วย

​กองทุน “ลูกเสือ” เหล่านั้นยังใช้หลักการแบบ VI ตามกองทุนเสือหรือ Tiger Fund หลาย ๆ กองประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ ตัว Julian Robertson เองก็ยังบริหารเงินของตนเอง อาจจะผ่านกองทุนลูกเสือด้วย และก็ประสบความสำเร็จในการลงทุนอย่างสูง ก่อนตายเขามีความมั่งคั่งประมาณ 4.8 พันล้านเหรียญหรือ 170,000 ล้านบาท ไม่นับเงินที่บริจาคไป 2 พันล้านเหรียญ และเขารอดจากหายนะในวิกฤติซับไพร์มปี 2008

Robertson คล้ายกับนักลงทุนในตำนานคนอื่น เช่นบัฟเฟตต์ที่รักการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ เขาเริ่มสนใจในหุ้นตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ตายเมื่ออายุ 90 ปีและกลายเป็น “ตำนาน” ของเฮดจ์ฟันด์ซึ่งเริ่มดังและเป็นที่นิยมในปี 1986 หลังจาก “Institutional Investor” วารสารนักลงทุนชื่อดัง ลงบทความผลงานสุดยอดของไทยเกอร์ฟันด์

ผมไม่รู้ว่าผู้บริหารของกองทุนต้นโพธิ์จะทำอะไรต่อไป ถ้าให้ผมทาย ก็คงต้องลงทุนต่อไป เพราะ “คนที่เกิดเป็นนักลงทุนแล้ว ก็ต้องเป็นนักลงทุนต่อไป” เพียงแต่อาจจะต้อง “เปลี่ยนกลยุทธ์” แต่ก็คงไม่เปลี่ยนปรัชญาหรือแนวทางหลักที่เคยใช้มานาน ในกรณีของ Robertson สิ่งที่เขาเปลี่ยนนั้น น่าจะอยู่ที่การจัดการกับ “ความเสี่ยง” ที่จะยอมรับได้ในการลงทุน เพราะใน

อดีตที่แทบจะฆ่าเขานั้น ก็เป็นเพราะว่าเขาอาจจะมั่นใจอะไรมากเกินไปในความสำเร็จของตนเองจนทำให้ไม่ได้คิดหรือตระหนักถึงความเสี่ยงร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้แม้ว่าโอกาสจะน้อยนิดแค่ไหนก็ตาม

และทั้งหมดนั้นก็เป็นบทเรียนให้กับนักลงทุน VI ที่เป็นบุคคลธรรมดาด้วยเช่นกันที่จะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของการลงทุนเท่า ๆ กับหรือมากกว่าผลตอบแทนที่ดีเลิศที่มักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงลิ่ว

LATEST NEWS

“Smarthome” สมาร์ทโฮมยืนหนึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับทุกครอบครัว

เมื่อพูดถึงแแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เชื่อว่าใครหลายๆ คน คงจะนึกถึงแบรนด์ “Smarthome” เป็น 1 ในคำตอบในใจอย่างแน่นอน ด้วยจุดเด่นของสินค้าที่แข็งแรง ทนทาน ดีไซน์ทันสมัยและราคาที่สามารถเข้าถึงได้ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับแบรนด์ “Smarthome” กันให้มากยิ่งขึ้น

บิ๊กดีลสะเทือนวงการ! กรุงศรีฟินโนเวตจับมืออีฟราสตรัคเจอร์ เปิดฉากลงทุนมหาศาลปั้นกองทุนใหม่หนุนสตาร์ทอัพรายเล็กก้าวกระโดด พร้อมเปิด Accelerator ติดอาวุธเร่งสปีดสร้างการเติบโต

กรุงศรี ฟินโนเวต ร่วมกับ อีฟราสตรัคเจอร์ (Efra Structure) ของ ป้อม ภาวุธ ผู้บุกเบิกและคร่ำหวอดในวงการอีคอมเมิร์ซไทย เตรียมปั้นกองทุนยักษ์ “ฟินโน อีฟรา ไพรเวท อิควิตตี้ ทรัสต์” (Finno Efra Private Equity Trust) มุ่งลงทุนในสตาร์ทอัพไทยและอาเซียน งบประมาณมหาศาลกว่า 1,300 ล้านบาท (หรือกว่า 35 ล้านเหรียญสหรัฐ) ภายในระยะเวลา 4 ปี เผยเริ่มพูดคุยกับสตาร์ทอัพที่น่าสนใจแล้วราว 5-6 บริษัท พ่วงด้วยการเปิด Accelerator Program อย่างเป็นทางการ เพื่อปั้นสตาร์ทอัพระดับ Seed ถึง Pre-series A ให้เติบโตสู่ระดับ Series A ได้อย่างแข็งแกร่ง

SCB CIO มองตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน เมื่อเข้าสู่โค้งสุดท้ายเลือกตั้งสหรัฐฯ พอร์ตหลักแนะหุ้นกลุ่มเทคฯ-สุขภาพ- สาธารณูปโภค-ทองคำ ส่วนพอร์ตเสริมสะสมเวียดนาม

SCB CIO มองตลาดหุ้นโลกจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากสถิติชี้ว่า ดัชนี VIX  จะเร่งตัวขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วง 4 เดือนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ขณะที่สถิติในอดีตบ่งชี้ดัชนี S&P500 มีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงเดือนส.ค.- ก.ย. แนะกลยุทธ์ลงทุนในตลาดหุ้นเลือกหุ้นคุณภาพดีเติบโตสูงงบแข็งแกร่งยอดขายกำไรเติบโตยั่งยืนเช่นกลุ่มเทคโนโลยีพร้อมผสมผสานกับหุ้นกลุ่มที่มีความทนทานต่อภาวะตลาดผันผวนเช่นกลุ่มสาธารณูปโภค  สุขภาพและสินค้าจำเป็น พร้อมระวังลงทุนในหุ้นกลุ่มขนาดเล็กจากกำไรของกิจการของหุ้นขนาดเล็กค่อนข้างผันผวนและอิงกับเศรษฐกิจสหรัฐฯเป็นหลักซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วงของการชะลอตัวลง สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง-สูง แนะลงทุนหุ้นเวียดนามจากดัชนีฯที่ได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง

RELATED