จำนวนประเทศต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่บราซิลไปจนถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังเรียกร้องให้การค้าระหว่างประเทศหันไปใช้สกุลอื่นๆนอกเหนือจากดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐได้ครองตำแหน่งสกุลเงินการค้าหลักของโลกมานานหลายทศวรรษ เนื่องจากไม่เพียงแต่ว่าสหรัฐมีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เพราะน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญที่ทุกประเทศไม่ว่าเล็กหรือใหญ่จำเป็นต้องใช้ มีราคาที่ซื้อขายกันในสกุลเงินของสหรัฐ
นอกจากนั้น การซื้อขายสินค้าโภณภัณฑ์อื่นๆ ส่วนใหญ่ก็ทำกันในรูปดอลลาร์
แต่เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างขนานใหญ่และต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อในปีที่ผ่านมา แบงก์ชาติของหลายประเทศทั่วโลกต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยตามเพื่อพยายามสกัดการไหลออกของเงินทุนกลับไปยังสหรัฐและชะลอการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของสกุลเงินของตน
เซดริค ชาฮับ ของบริษัทวิจัย Fitch Solutions กล่าวว่า “ถ้าประเทศต่างๆ สามารถกระจายสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศในพอร์ตออกไปเป็นหลายๆ สกุล มันอาจจะลดแรงกดดันต่อเงินสำรองในพอร์ตนี้ได้”
ข้อเท็จจริงที่ควรจะย้ำคือ ดอลลาร์สหรัฐยังคงเป็นสกุลหลักที่ครอบงำพอร์ตเงินสำรองของประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ ถึงแม้สัดส่วนของดอลลาร์ในเงินสำรองเหล่านี้จะได้ลดลงจากระดับกว่า 70% ในปี 1999 ทั้งนี้ตามข้อมูลของ IMF
ในไตรมาส 4 ของปี 2022 ตัวเลขนี้ได้ลดลงมาเหลือ 58.36% ในขณะที่เงินยูโรอยู่ในอันดับ 2 ที่ถูกทิ้งห่างมาก คือมีสัดส่วนเพียงประมาณ 20.5% และสกุลเงินหยวนของจีน มีสัดส่วนเพียง 2.7% เท่านั้น
จีนเป็นประเทศที่ได้เคลื่อนไหวมากที่สุดในเรื่องนี้ เนื่องจากบทบาทของตนในฐานะการเป็นผู้นำทางการค้าของโลก รวมทั้งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกด้วย
ข้อมูลการค้าปี 2022 ของ IMF ชี้ว่าจีนเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุด สำหรับ 61 ประเทศทั่วโลก ในขณะที่สหรัฐมีฐานะเดียวกันกับเพียง 30 ประเทศเท่านั้น
คุณชีฮับ กล่าวกับ CNBC ว่า “ในขณะที่พลังทางเศรษฐกิจของจีนยังจะมีมากขึ้นต่อเนื่อง มันคงจะเพิ่มบทบาทอิทธิพลในสถาบันการเงินและการค้าต่างๆ ของโลกด้วย”
จีน ซึ่งเป็นประเทศที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมากเป็นอันดับ 1 หรือ 2 มาโดยตลอด ได้ค่อยๆ ลดปริมาณการถือครองตราสารหนี้เหล่านี้ของสหรัฐลงอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเดือน ก.พ. ปีนี้ จีนถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นมูลค่าเกือบ 849,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา
ที่มา: https://www.cnbc.com/…/economic-and-political-factors…