ก.ล.ต.ร่อนหนังสือถึง ตลท.ทบทวนเงื่อนไข Short Sell-โปรแกรมเทรด พร้อมเข้าเช็คประสิทธิภาพระบบตรวจสอบ

ก.ล.ต.ส่งหนังสือถึง ตลท.ทบทวนเงื่อนไขธุรกรรมของ Short Sell – โปรแกรมเทรด ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเท่าเทียมแก่นักลงทุนทุกกลุ่ม พร้อมเข้าตรวจสอบประสิทธิภาพระบบมอนิเตอร์ Naked Short Selling ของ ตลท.- บล.

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือถึง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อสื่อสาร 2 ประเด็นสำคัญดังนี้

1. เกี่ยวกับธุรกรรมการขายชอร์ต (Short Selling) โดยก.ล.ต.ให้อำนาจคณะกรรมการตลาดหลักทรัพยฯ สามารถปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ เช่น การยกระดับเกณฑ์ Price Rule ให้ธุรกรรมขายชอร์ตต้องทำที่ระดับราคาสูงกว่าราคาตลาดครั้งสุดท้ายเท่านั้น (Uptick rule) เพื่อป้องกันการ Dump ราคา จากตอนนี้ที่สามารถทำได้ที่ราคาเท่ากับหรือสูงกว่าราคาตลาดครั้งสุดท้าย (Zero Uptick Rule) ซึ่งคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถใช้วิจารณญาณแก้ไขได้ รวมถึงเงื่อนไขอื่น ๆ ที่จะทำให้การดูแลสภาพตลาดมีเสถียรภาพมากขึ้น และหากว่ามาตรการที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถทบทวนและเสนอให้ ก.ล.ต. พิจารณาเห็นชอบได้

“บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ มีอำนาจเต็ม และเป็นผู้ที่มอนิเตอร์ภาพรวมตลาดอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา หากมีอะไรต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อสร้างเสถียรภาพของตลาดฯ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน สามารถทำได้เลยตามวิจารณญาณของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือหากติดขัดด้านกฎเกณฑ์ต้องการเพิ่มเติมอะไรก็สามารถส่งเรื่องมาที่ ก.ล.ต.ได้เลย พร้อมจะสนับสนุนเต็มที่” นางสาวจอมขวัญ กล่าว

2.ตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรเพิ่มกลไกการตรวจสอบธุรกรรมของโปรแกรมเทรด ซึ่ง ก.ล.ต.มองว่ามีความเสี่ยงสูง เพราะปัจจุบันสัดส่วนปริมาณและมูลค่าซื้อขายสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยแบ่งเป็น 2 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย

2.1.การระบุตัวตนผู้ธุรกรรม จากปัจจุบันจะเห็นเพียงคำสั่งซื้อขายที่มาผู้ดูแลรับฝากทรัพย์สิน (Custodian) ซึ่งควรต้องเจาะไปว่าลูกค้าของคัสโตเดี้ยนที่ส่งคำสั่งมาคือใคร เพื่อป้องกันการขายชอร์ตที่ไม่มีการยืมหลักทรัพย์ (Naked Short Selling) เพราะเมื่อรู้ว่าใครคือผู้ส่งคำสั่ง ก็จะได้รู้ว่าผู้นั้นมีหุ้นอยู่ในมือหรือไม่

2.2.การควบคุมต้นทุนซื้อขายของโปรแกรมเทรดที่มาจากนักลงทุนบุคคลซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยอย่างมีนัยสำคัญ

“หลักในการคิดค่าคอมมิชชั่น หากเป็นกลุ่มลูกค้าสถาบัน ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ ต้นทุนในการทำธุรกรรมซื้อขายจะต่ำกว่าปกติอยู่แล้ว โดยจะส่งคำสั่งผ่านโปรแกรมเทรดหรือส่งผ่านโบรกเกอร์โดยตรง ก็นับว่าแฟร์ แต่หากผู้ที่ใช้โปรแกรมเทรดเป็นนักลงทุนบุคคล ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่า ดังนั้นต้นทุนการซื้อขายที่ต้องจ่าย ก็ควรสูงกว่ากลุ่มสถาบัน หลักการคิดควรเป็นแบบนั้น

แต่ปัญหาตอนนี้คือเราไม่รู้เลยว่าผู้ที่ใช้โปรแกรมเทรดเป็นใคร เพราะส่วนใหญ่จะดำเนินการผ่านคัสโตเดี้ยนมาอีกที ดังนั้นจึงอยากให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มกลไกการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมไม่ให้มีการได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันในทุกกลุ่มนักลงทุน ที่จริงไม่ควรโทษโปรแกรมเทรด แต่ควรหาให้ได้ว่าผู้ที่ใช้โปรแกรมเทรดนั้นเป็นใคร” รองเลขาธิการ เพิ่มเติม

นอกจากนี้ ก.ล.ต.เตรียมเข้าตรวจสอบระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่ใช้ในการตรวจสอบ Naked Short Selling เพื่อให้มั่นใจว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเร็ว ๆ นี้ โดยได้แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว

LATEST NEWS

NER รุกเทรนด์ผู้นำ 2024 เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้นำขององค์กร

ในยุคที่องค์กรต่างเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านและความท้าทายใหม่ๆ ต้องอาศัยบุคลากรคุณภาพในการผลักดันองค์กรไป สู่เป้าหมาย (Corporate KPIs) ที่กำหนดไว้นั้น บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER นำโดย นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จึงได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของทักษะในการเป็นผู้นำในยุคปัจจุบัน โดยระบุว่าการเอาชนะใจผู้คนในทีมเป็นหนึ่งในทักษะหลักที่ผู้นำขาดไม่ได้

GULF-INTUCH ประกาศควบรวมกิจการ เล็งตั้งบริษัทใหม่ไตรมาส 2 ปีหน้า

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) และบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (INTUCH) ประกาศควบรวมกิจการ เพื่อเป็นการปรับโครงสร้างของบริษัทที่เกี่ยวข้องให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินการในการบริหารจัดการและการลงทุนในอนาคต รวมทั้งเพื่อลดความซ้ำซ้อนของโครงสร้างการถือหุ้นและต่อยอดโอกาสเติบโตในธุรกิจพลังงาน & โครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจดิจิทัล

RELATED