กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดในวันอังคารว่า GDP โลกจะขยายตัวในระยะปานกลางในอัตราต่ำที่สุดในรอบมากกว่า 30 ปี
IMF คาดว่าในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ไป เศรษฐกิจโลกน่าจะขยายตัวเพียงประมาณปีละ 3% ซึ่งเป็นอัตราคาดการณ์ระยะปานกลางที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990
รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดของ IMF ระบุว่า “สภาพเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันคงไม่กลับไปขยายตัวในระยะปานกลางในอัตราที่เห็นในช่วงก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19”
IMF กล่าวว่า แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเกิดจากความคืบหน้าของเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีนและเกาหลีใต้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร รวมทั้งการขยายตัวที่ช้าลงของตลาดแรงงานของโลก ปัญหาการแบ่งขั้วในด้านภูมิศาสตร์การเมือง เช่น ในกรณีของ Brexit และสงครามยูเครน
ในระยะสั้น IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะโต 2.8% ในปีนี้ และ 3% ในปี 2024 ซึ่งจะต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ในเดือน ม.ค. เล็กน้อย โดยตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดได้ปรับลดลงมา 0.1% ในทั้ง 2 ปี
รายงานระบุว่า “แนวโน้มที่ไม่ค่อยสดใสนี้สะท้อนถึงนโยบายของประเทศต่างๆ ในการใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นในการสกัดปัญหาเงินเฟ้อ ผลกระทบจากสภาพตลาดการเงินที่เสื่อมลงเมื่อเร็วๆ นี้ สงครามยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และการแบ่งขั้วในด้านภูมิเศรษฐศาสตร์ที่มีเพิ่มขึ้น”
IMF คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวเพียง 1.6% ในปีนี้ ในขณะที่ประเทศในเขตยูโรโซนจะโตเพียง 0.8% และเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรคงจะหดตัวลง 0.3%
ส่วน GDP ของจีนคาดว่าจะขยายตัว 5.2% ในปี 2023 และอินเดียจะโต 5.9% ในขณะที่เศรษฐกิจของรัสเซีย ซึ่งหดตัวลงมากกว่า 2.0% ในปี 2022 คงจะกลับมาโต 0.7% ในปี 2023
IMF เตือนว่า “ปัจจัยต่างๆ ที่ได้กระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2022 เช่น นโยบายเข้มงวดทางการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ งบประมาณด้านการคลังที่มีขีดจำกัดของประเทศต่างๆ ที่มีภาระหนี้สูง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น การแบ่งขั้วด้านภูมิเศรษฐศาสตร์ที่เป็นผลพวงของสงครามยูเครน และการเปิดเศรษฐกิจใหม่อีกครั้งของจีน คงจะมีผลต่อเนื่องในปี 2023 เพียงแต่ว่าปัจจัยเหล่านี้จะถูกซ้ำเติมจากความวิตกกังวลเรื่องเสถียรภาพทางการคลังที่จะปรากฏขึ้นมาให้เห็น”