นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน ส.ค.2566 อยู่ที่ระดับ 108.41 เพิ่มขึ้น 0.88% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.55% จากเดือนก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 8 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 2.01%
ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค.2566 สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ระดับ 0.6-0.78% ตามการสูงขึ้นของสินค้า ในกลุ่มพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่กลุ่มอาหารสดราคาทรงตัว ส่วนเนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหารราคาลดลง ส่งผลให้สินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ราคาโดยรวมชะลอตัวต่อเนื่อง
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ส.ค.2566 อยู่ที่ 104.41 เพิ่มขึ้น 0.79% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.02% จากเดือนก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 8 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 1.61%
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ย.2566 มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยมีปัจจัย
ที่ส่งผลบวกต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่อาจเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่
สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ปริมาณพืชผลการเกษตรและปศุสัตว์ลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้ากลุ่มอาหารและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ชะลอตัว และการใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์และการลงทุนภายในประเทศ
รวมทั้งฐานการคำนวณในเดือน ก.ย.2565 ที่อยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยกดดันให้เงินเฟ้อทรงตัวและเพิ่มขึ้นไม่มาก
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่เกิดจากมาตรการของภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาในระยะอันใกล้ และส่งผลต่อเงินเฟ้อ
อย่างมีนัยสำคัญ อาทิ มาตรการลดค่าครองชีพ และการลดต้นทุนภาคการผลิตและบริการ (ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม) และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 อยู่ระหว่าง 1.0-2.0% (ค่ากลาง 1.5%) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง