บริษัท Johnson & Johnson (JJ) ใช้ความพยายามครั้งใหม่ผ่านช่องทางของศาลล้มละลาย เพื่อขอประนีประนอมยอมความ ในกรณีที่ถูกลูกค้านับหมื่นๆ ราย ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์ โดยลูกค้ากล่าวหาว่าแป้งฝุ่นทัลคัมของบริษัทได้ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ล่าสุด JJ เสนอที่จะยอมจ่ายให้กับโจทก์รวมทั้งสิ้น 8,900 ล้านดอลลาร์ภายใน 25 ปี
เอกสารที่ยื่นต่อศาลล้มละลายสหรัฐ ระบุว่า บริษัทลูกของ JJ ชื่อ LTL ได้ใช้ความพยายามเป็นครั้งที่ 2 ในการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอล้มละลาย โดยเรียกวิธีนี้ว่าเป็นหนทางที่ “จะสามารถประนีประนอมอย่างเสมอภาคและมีประสิทธิภาพในการตกลงยุติข้อเรียกร้องที่เกิดจากคดีฟ้องร้องเรื่องสินค้าเครื่องสำอางทัลคัม” ในทวีปอเมริกาเหนือ
ก่อนหน้านี้ ความพยายามของบริษัท LTL ในการยื่นคำร้องขอล้มละลายผ่านกฏหมาย Chapter 11 เพื่อยุติคดีแป้งทัลคัมได้ถูกศาลอุทธรณ์ปฏิเสธไม่รับพิจารณา โดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าบริษัทไม่สามารถยื่นขอล้มละลายได้ เนื่องจาก LTL ไม่ได้ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินแต่อย่างไร
ในความพยายามครั้งใหม่นี้ LTL เสนอที่จะจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกค้าผู้เสียหายเพิ่มขึ้นอีก 6,900 ล้านดอลลาร์ จากเดิมที่เคยเสนอว่าจะจ่ายเพียง 2,000 ล้านดอลลาร์
โดย LTL กล่าวว่า บริษัทได้รับการยืนยันจากกลุ่มผู้เรียกร้องค่าชดเชยกว่า 60,000 ราย ที่ตกลงว่าจะรับข้อเสนอที่ดีกว่าในครั้งใหม่นี้
แต่ LTL ระบุว่า กรณีการตกลงยอมความที่น่าจะเกิดขึ้นได้ในครั้งนี้ไม่ได้ถือว่าบริษัทยอมรับว่าเป็นฝ่ายผิด เนื่องจาก Johnson & Johnson ได้ยืนยันมาโดยตลอดว่าแป้งฝุ่นทัลคัมของบริษัทเป็นสินค้าที่ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้
ถึงแม้ Johnson & Johnson จะอ้างว่าบริษัทได้ชนะคดีส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องเรื่องแป้งฝุ่นทัลคัมมาแล้ว แต่คณะลูกขุนที่ตัดสินคดีเหล่านี้ได้ตัดสินให้บริษัทจ่ายค่าเสียหายเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์ให้กับลูกค้าบางราย โดยตัดสินสนับสนุนข้อกล่าวหาของพวกเขาว่าแป้งทัลคัมของบริษัทได้ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
อีเร็ค ฮาส รองกรรมการฝ่ายนิติกรรมของ Johnson & Johnson กล่าวว่า “บริษัทยังเชื่อว่าข้อกล่าวหาที่ฝ่ายโจทก์ยื่นฟ้องมีลักษณะที่คลุมเครือไม่ชัดเจนและปราศจากหลักฐานที่เพียงพอ แต่เนื่องจากศาลล้มละลายมีความเห็นว่าการที่จะตัดสินคดีฟ้องร้องเรื่องแป้งทัลคัมต้องใช้เวลานานนับสิบปี ซึ่งจะทำให้ LTL ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในคดีเหล่านี้ต่อไปอีกมาก”
คุณฮาส ระบุในแถลงการณ์ว่า การยุติคดีเหล่านี้ผ่านช่องทางของศาลล้มละลายจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งบริษัท LTL และผู้ฟ้องร้อง เนื่องจากฝ่ายหลังจะได้รับค่าชดเชยเร็วขึ้น พร้อมกับช่วยให้ JJ ลดการใช้เวลาต่อสู้กับคดีเหล่านี้ในทวีปอเมริกาเหนือลงได้เป็นอย่างมาก
แต่ทนายของลูกค้าที่ยื่นฟ้องตำหนิวิธีการยื่นขอล้มละลายของ LTL โดยกล่าวว่า “นี่เป็นข้อเสนอหาทางออกที่น่าอับอาย เนื่องจากค่าชดเชยล่าสุดยังไม่เพียงพอที่จะจ่ายบิลค่ารักษาพยาบาลของผู้เสียหายส่วนใหญ่ เนื่องจากเฉพาะค่ารักษาอย่างเดียวก็ตกเป็นเงินตั้งแต่ 140,000 ดอลลาร์ ถึง 1.4 ล้านดอลลาร์ต่อคน สำหรับคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูก”