ตลาดหุ้นกับรัฐบาล | ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ในช่วงที่กำลังมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และดัชนีตลาดหุ้นก็ตกลงมาพร้อม ๆ กันจนดูเหมือนว่าการจัดตั้งและการมีรัฐบาลที่มีนโยบายหรือมีแนวความคิดทางการปกครองและการบริหารงาน โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ อาจจะมีผลต่อตลาดหุ้น นั่นก็คือ ดัชนีตลาดหุ้นจะขึ้นหรือลง

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ “รัฐบาล” ว่าที่จริง ในตลาดหุ้นพัฒนาแล้วอย่างในสหรัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทุก 4 ปี ก็มีการศึกษาว่าระหว่างรัฐบาลที่มาจากพรรคเดโมแครทซึ่งเป็นพรรคที่อยู่ทาง “ซ้าย” ที่เป็นเสรีนิยม กับพรรครีพับลิกัน ที่อยู่ทาง “ขวา” ที่อนุรักษ์นิยมกว่านั้น ตลาดหรือดัชนีหุ้นฝั่งไหนจะดีกว่า ซึ่งผลก็ดูเหมือนว่าจะไม่แตกต่างกันนัก หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ รัฐบาลจากทั้ง 2 พรรคไม่ได้มีผลต่อตลาดหุ้นนัก เลือกตั้งประธานาธิบดีไม่ได้มีผลต่อตลาดหุ้นแม้ว่าผู้ชนะจะเปลี่ยนไปจากเดิม แต่เรามาดูตลาดหุ้นไทยบ้าง โดยผมจะเลือกเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่อยู่เกิน 2 ปีขึ้นไป

รัฐบาลแรกก็คือ รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการกองทัพบกภายหลังจากการรัฐประหารและความวุ่นวายทางการเมือง (กรณี 6 ตุลาคม 2519) ในปี 2523 หรือหลังจากตลาดหลักทรัพย์ก่อตั้งมา 5 ปีในปี 2518 และการเกิดวิกฤติตลาดหุ้นกรณีราชาเงินทุนในปี 2522

วันแรกที่พลเอกเปรมเป็นนายกนั้น ดัชนีตลาดหุ้นอยู่ที่ประมาณ 138 จุด ซึ่งก็เป็นระดับที่ต่ำจากที่เคยสูงถึง 258 จุด หรือตกลงมาถึง 47% หลังวิกฤติในปี 2522 ภายใต้การบริหารงานของพลเอกเปรมนั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นแนวอนุรักษ์นิยมและส่วนใหญ่ก็อิงกับระบบราชการ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ โดยที่พรรคการเมืองที่หนุนหลังนั้นก็กระจัดกระจายและไม่ได้มียุทธศาสตร์อะไรในการชี้นำประเทศ

ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้น “นิ่ง” ไปนานถึง 6 ปีจนถึงปี 2529 ที่ดัชนีก็ยังอยู่ที่ประมาณ 130 จุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลในรูปแบบที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยและอนุรักษ์นิยมนั้น ไม่ดีต่อตลาดหุ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีสุดท้ายของระยะเวลา 8 ปี ครึ่งของพลเอกเปรม ดัชนีตลาดหุ้นก็วิ่งขึ้นไปแรงถึง 437 จุด แต่นั่นก็น่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นทั้งต่างประเทศและของไทยที่กำลังเริ่มบูมมากกว่าเป็นเรื่องของรัฐบาล

รัฐบาลที่ 2 ก็คือ รัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีในนามของพรรคการเมืองคือพรรคชาติไทย หลังจากที่พลเอกเปรมปฏิเสธที่จะเป็นต่อหลังการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2531 นโยบาย “ทำสนามรบให้เป็นสนามการค้า” และการ “สนับสนุนธุรกิจเอกชน” ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นในช่วง 2 ปี ครึ่ง ปรับตัวขึ้นช่วงหนึ่งจาก 320 จุด เป็น 1,100 จุดหรือเพิ่มขึ้นถึง 250% ตามภาวะการณ์เติบโตอย่างร้อนแรงของเศรษฐกิจและการเปิดเสรีทางการเงินของประเทศ และนี่ก็คือสิ่งที่ “ตลาดหุ้นชอบ” นั่นก็คือ “ทุนนิยมเสรี”

รัฐบาลที่ 3 ก็คือ รัฐบาล ชวน หลีกภัย 1 ระหว่างปี 2535 ถึง 2538 เป็นเวลาเกือบ 3 ปี นี่คือช่วงเวลาหลังรัฐประหารรัฐบาลชาติชายและต่อมานำไปสู่เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ในปี 2535 ซึ่งประเทศไทยดูเหมือนจะ เข้าสู่ “ยุคใหม่” ของการปกครองที่พลเรือนที่เป็นนักการเมืองเป็นผู้นำแทนทหารและข้าราชการระดับสูง ดัชนีตลาดหุ้นไทยเพิ่มจากประมาณ 800 จุด ขึ้นไปถึง 1,754 จุด ซึ่งเป็นจุดสูงสุดที่ไม่ถูกทำลายต่อมาอีกกว่า 20 ปี เป็นการเพิ่มขึ้นของดัชนีหุ้นกว่า 100% ในเวลาเพียงปี 1 ปี 4 เดือน

รัฐบาลนายชวน หลีกภัย 2 เริ่มในช่วงปลายปี 2540 หลังเกิดวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ในช่วงกลางปี และอยู่ถึงต้นปี 2544 เป็นเวลา 3 ปี 2 เดือน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ตกลงมา 55% ในปี 2540 เหลือเพียง 370 จุด ตอนสิ้นปี พยายามประคองตัวและปรับขึ้นบ้างแต่เมื่อประสบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายและการปรับโครงสร้างหนี้ของธุรกิจและประเทศ แบบ “อนุรักษ์นิยม” และตามการชี้นำของ IMF ที่เข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลไทย อย่างไรก็ตาม ในตอนท้ายของรัฐบาล ดัชนีตลาดหุ้นก็ปรับตัวลงเหลือเพียงประมาณ 300 จุด กลายเป็น 3 ปีที่หายไป ส่วนหนึ่งจากวิกฤติไฮเทคของอเมริกาที่กำลังมาด้วย ซึ่งทำให้ดัชนีหุ้นไทยตกลงมาถึง 44% ในปี 2544

รัฐบาลที่ 4 คือ รัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ที่ชนะเลือกตั้งทั่วไปในปี 2544 ด้วย “ความคิดใหม่” และเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในยุคใหม่ของการสื่อสารฉายา “อัศวินคลื่นลูกที่สาม” ภายในช่วง 3 ปีแรกจาก 5 ปี 7 เดือนในตำแหน่ง ดัชนีหุ้นวิ่งขึ้นไปจาก 300 จุดเป็น 772 จุดหรือเพิ่มขึ้น 157% ประเทศไทยจากสถานะเกือบล้มละลายได้รับการปรับอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือและสามารถใช้หนี้ IMF ได้หมดก่อนครบกำหนดเวลา

รัฐบาลที่ 5 คือ รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2551 – 2554 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือนหลังจากการรัฐประหารและความวุ่นวายทางการเมืองที่มีการประท้วงและต่อสู้ระหว่างคน 2 กลุ่มหรือคนเสื้อเหลือง-แดง อย่างไรก็ตาม ดัชนีตอนที่รัฐบาลเข้ามาบริหารงานนั้นอยู่ในช่วงที่ตกต่ำที่สุดหลังวิกฤติซับไพร์มในปี 2008 ที่ 450 จุด ซึ่งเป็นการตกลงมาถึงประมาณ 48% ในเวลา 1 ปี และกำลังเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและกลายเป็น “ยุคทอง” ของการลงทุน ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึง 1,070 จุด หรือ 138% ในเวลา 2 ปี 8 เดือน ทั้ง ๆ ที่การเมืองกำลังวุ่นวาย แต่ก็ไม่มีสัญญาณว่าทหารจะเข้ามาเกี่ยวข้องอีก

รัฐบาลที่ 6 คือรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งจากปี 2554 -2557 เป็นเวลา 2 ปี 9 เดือน จากการเลือกตั้งทั่วไปที่พรรคเพื่อไทยได้ชัยชนะเด็ดขาด ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างมั่นคงจากประมาณ 1,070 จุด เป็น 1,416 จุด หรือเพิ่มขึ้น 32% คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 10.7% ต่อปี ทั้ง ๆ ที่ปัญหาการเมืองก็ยังคงรุนแรงและในที่สุดก็นำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง

รัฐบาลสุดท้ายก็คือ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากการรัฐประหารในปี 2557 จนถึงปัจจุบัน คิดเป็นระยะเวลายาวนานถึง 8 ปี 9 เดือน เป็นรองเฉพาะจอมพล ป. พิบูลสงครามและจอมพลถนอม กิตติขจร เท่านั้น ช่วงตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ยึดอำนาจจนถึงวันนี้ที่ 27 พฤษภาคม 2566 ดัชนีตลาดลดลงจาก 1,562 จุดเป็น 1,531 จุด หรือลดลงประมาณ 2% หรือพูดง่าย ๆ นี่เป็นช่วง “ทศวรรษที่หายไป” ตลาดหุ้นแทบจะไม่ให้ผลตอบแทนเลยเป็นเวลาถึง 10 ปี และนี่ก็มีลักษณะคล้าย ๆ กับช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ที่หุ้นไม่ไปไหนยาวนาน และในระหว่างนั้นก็ไม่ขึ้นแรงหรือตกแรง

ข้อสรุปของผมจากข้อมูลที่เห็นก็คือ ข้อแรก ตลาดหุ้นจะไม่ชอบการรัฐประหารและการใช้ระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาก ยิ่งรัฐบาลอยู่นานตลาดก็ยิ่งแย่หรือไม่โตเลย ข้อสอง แม้ว่าการเมืองจะมีความวุ่นวายและมีการประท้วงรุนแรง แต่ถ้าภาพใหญ่ยังปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตลาดหุ้นก็มักจะยังพอไปได้ ถ้าหุ้นตกลงมาต่ำมากจนเป็นวิกฤติ โอกาสที่ตลาดจะฟื้นตัวกลับตามภาวะตลาดโลกอย่างในกรณีของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ยังเป็นไปได้ หรือแม้แต่ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตลาดหุ้นก็ยังพอไปได้แม้ว่าการเมืองจะวุ่นวายมาก

ตลาดหุ้นมักจะดีเมื่อมีรัฐบาลที่เกื้อหนุนธุรกิจ เน้นทุนนิยมเสรี เน้นการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ เช่น การมีสัญญาการค้าและการเมืองกับนานาชาติ เช่นสมัยชาติชาย ชุณหะวัน หรือมีการลดภาษีต่าง ๆ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือธุรกิจมาก ๆ อย่างกรณีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีนโยบายรถคันแรกหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554

การนำประเทศเข้าสู่ “ยุคใหม่” หรือผู้นำที่จะนำพาประเทศสู่ความรุ่งเรืองใหม่หลัง “วิกฤติ” ต่าง ๆ อย่างในกรณีทักษิณ ชินวัตรก็มักจะทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นแรง เช่นเดียวกับกรณีของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน และอาจจะรวมถึง ชวน หลีกภัย สมัยแรก ที่เปลี่ยนผู้นำจากทหารและข้าราชการเป็นรัฐบาลพลเรือน

สุดท้ายก็คือ เรื่องของการเมืองล่าสุดที่พรรค “ฝ่ายซ้าย” กำลังพยายามจัดตั้งรัฐบาล นี่ก็คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศไทยยังไม่เคยเจอ ผมเองคิดว่าตลาดหุ้นนั้น ชอบความเป็นทุนนิยมเสรีมากกว่าการเป็น “สังคมนิยม” ที่รัฐจะเข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจมากขึ้นผ่านระบบการเก็บภาษีมากขึ้น เรายังไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นจนกว่ารัฐบาลจะเข้ามาบริหารและผลกระทบส่งถึงตลาดหุ้นเมื่อเวลาผ่านไป

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนนี้ได้สะท้อนเข้าในตลาดหุ้นบ้างแล้ว เพราะหลังการเลือกตั้งไม่กี่วันหุ้นก็ตกลงมาอย่างชัดเจนโดยที่ไม่มีเหตุผลอื่น

โลกในมุมมองของ Value Investor

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

27 พฤษภาคม 2566

LATEST NEWS

GC เชิญร่วมงาน GC Sustainable Living Symposium 2024 ตอกย้ำ “ยั่งยืนไม่ยาก” Hybrid Event รวมพลคนหัวใจยั่งยืนเสวนาและนิทรรศการ 18 ตุลาคม 2567 นี้

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ขอเชิญคนหัวใจรักษ์โลก (GEN S: Generation Sustainability) ทุกวัย ทุกอาชีพ มาร่วมกันหาคำตอบของการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนในงาน GC Sustainable Living Symposium 2024: GEN S GATHERING ในรูปแบบ Hybrid Event ทั้ง On Ground และ Online ภายใต้แนวคิด “ยั่งยืนไม่ยาก”  พบกับการเสวนาเปิดมุมมองธุรกิจสู่ความยั่งยืนอย่างรอบด้านและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมาย Net Zero โดยผู้นำจากทุกภาคส่วน ชมนิทรรศการนวัตกรรมที่คิดเพื่อโลก และแลกเปลี่ยนไอเดียสร้างสรรค์จุดแรงบันดาลใจกู้โลกเดือด เป็นประโยชน์สำหรับทั้งภาคธุรกิจและการใช้ชีวิตที่จะทำให้เรื่องของความยั่งยืนไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป ที่พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน ในวันที่ 18 ตุลาคม 2567 นี้

ประกันภัยไทยวิวัฒน์ก้าวใหม่ปีที่ 74 เป็นมากกว่าประกันภัย ครั้งแรกของไทย! เปิดตัวประกันรถเปิดปิด “รถติดไม่คิดเบี้ย” คืนความคุ้มค่าสู่ลูกค้า และส่งต่อสิ่งดีคืนสู่สังคมผ่านแคมเปญ Thaivivat Caring Forward 

บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ก้าวใหม่ในปีที่ 74 ย้ำแนวคิด Beyond Insurance เป็นมากกว่าประกันภัยเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนคืนสู่สังคม เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ประกันรถเปิดปิด “รถติดไม่คิดเบี้ย” เน้นเข้าใจ Pain Point ของลูกค้าในทุกมิติ ต่อยอดความสำเร็จและเพิ่มประสบการณ์ใช้งานที่มากกว่าแบบไร้รอยต่อคืนชั่วโมงความคุ้มครองลูกค้าขณะรถติดให้อัตโนมัติพร้อมส่งต่อสิ่งดีๆ คืนสู่สังคมผ่านแคมเปญ “Thaivivat Caring Forward คิดเผื่อเพื่อสังคม” ชวนลูกค้าประกันภัยรถยนต์ขับรถปลอดภัยได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี โดยประกันภัยไทยวิวัฒน์มอบเงินบริจาคในนามของผู้เอาประกันภัยแก่มูลนิธิเพื่อสังคมล่าสุดผนึกพันธมิตรมอบเงินบริจาคคิกออฟ 1 ล้านบาทกับงานคอนเสิร์ตการกุศล Thaivivat Caring Forward โดยศิลปินชั้นนำ คุณนภพร ชำนิและคุณแสตมป์ อภิวัชร์ สร้างการมีส่วนร่วมในการแบ่งปันเพื่อสังคมที่ดีกว่า

ทรู คอร์ปอเรชั่น ปิดดีลเงินกู้ความยั่งยืนเป็นครั้งแรก มูลค่า 141.3 พันล้านเยน ได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามจากธนาคารต่างประเทศชั้นนำ

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี ชั้นนำอันดับ 1 ของไทย และอันดับ 1 ของโลกด้านความยั่งยืน ด้วยคะแนน DJSI 2023 สูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน ประสบความสำเร็จในการปิดดีลเงินกู้ที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Syndicated Loan) เป็นครั้งแรก มูลค่ารวม 141.3 พันล้านเยน (ประมาณ 33 พันล้านบาท) เพื่อนำเงินที่ได้ไปชำระคืนหนี้เดิม (Refinancing) และถือเป็นบริษัทแรกของไทยในกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม-เทคโนโลยี ที่ได้รับสินเชื่อความยั่งยืนดังกล่าว

RELATED