SCB CIO ประเมินมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุน หลังผลเลือกตั้งอินโดนีเซีย ที่นายปราโบโว ซูเบียนโต ได้รับคะแนนเสียงสูงสุด เตรียมเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 ต.ค. นี้ เดินหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคม พร้อมสานต่อนโยบายรัฐบาลชุดเดิม สร้างเศรษฐกิจให้เติบโตด้วยกลไกตลาดเสรี ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติและเน้นการพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ทั้งด้านพลังงานอาหารและน้ำ รวมทั้งลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ตั้งเป้าเศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตเฉลี่ย 6-7% ต่อปี
SCB CIO ยังคงมุมมอง Neutral แม้หุ้นกลุ่มธนาคารเติบโตดี Valuation ของตลาดหุ้นอยู่ในระดับต่ำ และรายได้ (Earning) ของบริษัทจดทะเบียนคาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปีนี้ที่กว่า 12% และปี 2568 กว่า 9% แต่ยังมีปัจจัยกังวลในเรื่องภาคการส่งออกที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง การปรับลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และความเสี่ยงที่รัฐบาลอาจปรับเพิ่มเพดานขาดดุลการคลังต่อ GDP จาก 3% เป็น 6% ที่อาจจะกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังระยะกลางถึงยาวได้
ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2567 ผลการนับคะแนนแบบไม่เป็นทางการ (Quick Count) ที่มีความแม่นยำค่อนข้างสูง ชี้ว่า นายปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto)ได้คะแนนเฉลี่ย 58% ของคะแนนเสียงทั้งหมด ทำให้ นายปราโบโว คว้าชัยชนะจากการเลือกตั้งประธานาธิบดี และเตรียมรอเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ต.ค.นี้ โดยไม่น่าจะต้องมีการเลือกตั้งรอบสอง เนื่องจากเป็นไปตามกฎการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียที่ระบุว่า กรณีผู้สมัครชนะการเลือกตั้ง ต้องได้คะแนนมากกว่า 50% และ ได้คะแนนอย่างน้อย 20% ในจังหวัดต่างๆ มากกว่าครึ่งหนึ่งของจังหวัดทั้งประเทศ หากไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเสียงถึงเกณฑ์ที่กำหนด จึงจะจัดเลือกตั้งรอบสอง ให้ผู้สมัครที่มีคะแนนเสียงอันดับ 1 และ 2 ชิงชัยชนะกัน
เมื่อวิเคราะห์นโยบายหาเสียงของนายปราโบโว พบว่า โดยภาพรวมเน้นไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจ และด้านสวัสดิการสังคม นโยบายหลักๆ ได้แก่ ด้านสุขภาพ อสังหาริมทรัพย์ แรงงาน การคลัง และ สวัสดิการสังคม โดยตัวอย่างนโยบายเด่นๆ เช่น จัดตรวจสุขภาพฟรีให้ประชาชนทุกคนปีละ 1 ครั้ง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของหมู่บ้านและตำบลอย่างต่อเนื่อง เพิ่มเงินเดือนข้าราชการ จัดตั้งสำนักงานสรรพากรของรัฐ แยกออกมาจากกระทรวงการคลัง เพื่อเพิ่มอัตราส่วนรายได้ภาครัฐต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และเพิ่มโปรแกรมบัตรสวัสดิการสังคม เพื่อขจัดความยากจนอย่างแท้จริง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพร้อมสานต่อนโยบายรัฐบาลของนายโจโก วีโดโด (Joko Widodo) ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน เช่น นโยบายโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการสร้าง “นูซันตารา” เมืองหลวงแห่งใหม่ ทั้งยังต้องการมุ่งเน้นให้เศรษฐกิจเติบโตด้วยกลไกตลาดเสรี ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ และเน้นการพึ่งพาตัวเองมากขึ้นด้านพลังงาน อาหาร และน้ำ รวมทั้ง ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศด้วย
สำหรับช่วง 5 ปีต่อจากนี้ที่ นายปราโบโว จะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ได้ตั้งเป้าหมายเศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตเฉลี่ย 6-7% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าที่ IMF คาดอยู่ที่ 5% ระหว่างปี 2024-2025นอกจากนี้ ยังต้องการลดจำนวนคนว่างงานลงประมาณ 2 ล้านคน ภายใน 5 ปี ผ่านการสืบสานและต่อยอดนโยบายประธานาธิบดี โจโก ซีโดโด โดยเราคาดว่า จะช่วยสนับสนุนภาคการลงทุน จากการที่ภาคเอกชนมีความมั่นใจมากขึ้น และการเพิ่มการใช้จ่ายงบลงทุน (CAPEX) ส่วนการบริโภค คาดว่าจะได้รับผลบวกจากการใช้จ่ายภาครัฐฯ ในด้านสังคม ที่มีแนวโน้มดำเนินต่อไป ตามที่ได้ผ่านงบประมาณรายจ่ายไว้แล้ว ขณะเดียวกัน นายปราโบโว ประกาศไว้ว่าจะเริ่มต้นเดินหน้านโยบายที่หาเสียงไว้หลายประการทันทีที่เข้ามาบริหารประเทศเต็มตัว จึงเป็นแรงกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะต่อไป
ทั้งนี้ SCB CIO มีมุมมองเชิงบวกเพิ่มขึ้นต่อตลาดหุ้นอินโดนีเซีย โดยมองว่าตลาดหุ้นได้รับแรงหนุนระยะสั้น จากปัจจัยดังนี้ 1) การเลือกตั้งที่มีแนวโน้มสำเร็จในรอบแรก ส่งผลบวกต่อ sentiment บนตลาดหุ้นอินโดนีเซีย 2) ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารยังมีแนวโน้มเติบโตดี 3) Valuation ของตลาดหุ้นอินโดนีเซีย อยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยเทรดอยู่บน ราคาต่อกำไรต่อหุ้นในระยะข้างหน้า (forward PE) ที่ 13.7x หรือยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ประมาณ -1 s.d. และ 4) Earnings ของบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปี 2567 ที่ประมาณ +12.2% และในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ +9.4%
อย่างไรก็ตาม เรายังคงมุมมอง Neutral (ถือ) บนตลาดหุ้นอินโดนีเซียอยู่ เนื่องจากประเด็นความกังวลที่มีอยู่ ได้แก่ 1) ภาคการส่งออกที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง 2) การปรับลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออก ดุลบัญชีเดินสะพัด และรายได้ภาครัฐฯ ของอินโดนีเซีย 3) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลง อาจส่งผลกดดันต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลให้ปรับลดลง และ 4) ความเสี่ยงที่รัฐบาลภายใต้การนำของ นายปราโบโว อาจปรับเพิ่มเพดานขาดดุลการคลังต่อ GDP จากปัจจุบันที่ 3% เป็น 6% ซึ่งหากเกิดขึ้น จะกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังระยะกลางถึงยาว และส่งผลลบต่อค่าเงินรูเปี๊ยะให้อ่อนค่าลง และ Bond Yield อินโดนีเซีย อาจกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้