SCB CIO แนะทยอยสะสมหุ้นเกาหลีใต้ Valuation ต่ำ-รับกำไรบริษัทจดทะเบียนโตโดดเด่น

SCB CIO แนะทยอยสะสม หุ้นเกาหลีใต้ จาก 4 ปัจจัยหนุน กำไรต่อหุ้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ที่โต Valuation ยังต่ำ อานิสงส์จากนโยบายเพิ่มมูลค่าบริษัท และฟันด์โฟลว์ไหลเข้าแล้ว 14,000 ล้านดอลลาร์

ดร.กำพล  อดิเรกสมบัติ  ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO)  ธนาคารไทยพาณิชย์  เปิดเผยว่า การลงทุนในตลาดหุ้นเกาหลีใต้ มีความน่าสนใจ จากวัฏจักรการส่งออกที่ฟื้นตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้กลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยในปีนี้ ผลสำรวจนักวิเคราะห์จาก Bloomberg Consensus คาดการณ์ว่า GDP เกาหลีใต้ในปี 2567-2568 จะขยายตัว 2.2% สอดคล้องกับมุมมองของ SCB CIO ที่คาดว่า GDP เกาหลีใต้ในปีนี้จะขยายตัวได้ดีกว่าปี 2566 ที่ขยายตัว 1.4% ขณะที่ ธนาคารกลางสาธารณรัฐเกาหลีใต้ (BOK) คาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ อยู่ที่ 2.6% สูงกว่าระดับเป้าหมายระยะยาวที่ 2% ทำให้เรามองว่า BOK มีแนวโน้มจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบัน 3.5% ต่อไป และน่าจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

เมื่อพิจารณาโครงสร้างดัชนีตลาดหุ้นเกาหลีใต้ หรือ KOSPI พบว่า ดัชนีมีสัดส่วนหุ้นอิเล็กทรอนิกส์สูงที่สุด ที่ประมาณ 39% ของดัชนี    โดยหุ้น Samsung Electronices มีน้ำหนักสูงถึง 20% ของดัชนี  และเมื่อรวมหุ้นตระกูลธุรกิจขนาดใหญ่ในเกาหลีใต้ (Chaebols) ทั้งหมดจะประมาณ 60% ของดัชนี   ทั้งนี้  นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่ยังเป็นนักลงทุนรายย่อยในประเทศถึง 66% ของมูลค่าการซื้อขายในตลาด สะท้อนว่ารายย่อยมีส่วนร่วมในตลาดค่อนข้างมาก 

SCB CIO มองว่า หุ้นเกาหลีใต้ มีความน่าสนใจลงทุน ด้วยปัจจัยสนับสนุน 4 ด้าน ได้แก่

1. อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS growth) ปี 2567 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากกำไรของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่มีน้ำหนักมากบนดัชนี ที่ฟื้นตัวค่อนข้างดีตามการส่งออกเกาหลีใต้ และยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ที่เติบโต

2. มูลค่า (Valuation) ยังน่าสนใจ โดยราคาต่อกำไรต่อหุ้นในอนาคต (12M Forward P/E) ของ KOSPI อยู่ที่ 10.6 เท่า หรือ -0.3 S.D. เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปี ขณะที่ ราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) อยู่ที่ 0.89 เท่า หรือ -0.4 S.D. เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปี

3. อานิสงส์นโยบายเพิ่มมูลค่าบริษัท (Coporate Value Up) ที่แม้จะเป็นมาตรการตามความสมัครใจ แต่มีสิทธิพิเศษทางภาษีให้ คาดว่า จะส่งผลดีมากที่สุดกับหุ้นที่ซื้อขายอยู่บน valuation ที่ต่ำกว่าตลาด มีเงินสดพร้อมสำหรับการซื้อหุ้นคืน และ มีการจ่ายปันผลเพิ่มเติม

4. นักลงทุนต่างชาติกลับเข้าซื้อสุทธิบนดัชนี KOSPI โดยนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 กลับเข้าซื้อสุทธิแล้วประมาณ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงที่สุด นับตั้งแต่ช่วงปี 2564

อย่างไรก็ตาม  ยังมีความเสี่ยงหลักสำหรับการลงทุนตลาดหุ้นเกาหลีใต้ที่นักลงทุนควรติดตาม ได้แก่ ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักเติบโตน้อยกว่าที่คาด เนื่องจากเกาหลีใต้พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ จีน สหรัฐฯ และเวียดนาม จึงมีความเสี่ยงที่การส่งออกจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักเติบโตน้อยกว่าที่คาด และอาจทำให้กำไรบริษัทจดทะเบียนต่ำกว่าที่คาดการณ์ได้ และความเสี่ยงจากการเลือกตั้งทั่วไปในเกาหลีใต้ที่จะมีขึ้นวันที่ 10 เม.ย. 2567 อาจทำให้เกิดความกังวลบนนโยบายเพิ่มมูลค่าบริษัทจดทะเบียน ส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดหุ้นได้

ทั้งนี้ ด้วยปัจจัยบวกที่มีมากกว่าปัจจัยลบ ทำให้ SCB CIO มีมุมมอง Slightly Positive หรือ ทยอยลงทุนได้บนตลาดหุ้นเกาหลีใต้ โดยเราแนะนำให้ ทยอยลงทุนบน Opportunistic Portfolio ซึ่งเป็นพอร์ตลงทุนส่วนเพิ่มโอกาส เนื่องจาก ปัจจัยบวกด้านกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2567 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และวัฏจักรเซมิคอนดักเตอร์ Valuation ที่ยังอยู่ในระดับไม่แพง ประกอบกับนโยบายเพิ่มมูลค่าบริษัท มีแนวโน้มส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน 

LATEST NEWS

NER รุกเทรนด์ผู้นำ 2024 เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้นำขององค์กร

ในยุคที่องค์กรต่างเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านและความท้าทายใหม่ๆ ต้องอาศัยบุคลากรคุณภาพในการผลักดันองค์กรไป สู่เป้าหมาย (Corporate KPIs) ที่กำหนดไว้นั้น บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER นำโดย นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จึงได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของทักษะในการเป็นผู้นำในยุคปัจจุบัน โดยระบุว่าการเอาชนะใจผู้คนในทีมเป็นหนึ่งในทักษะหลักที่ผู้นำขาดไม่ได้

GULF-INTUCH ประกาศควบรวมกิจการ เล็งตั้งบริษัทใหม่ไตรมาส 2 ปีหน้า

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) และบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (INTUCH) ประกาศควบรวมกิจการ เพื่อเป็นการปรับโครงสร้างของบริษัทที่เกี่ยวข้องให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินการในการบริหารจัดการและการลงทุนในอนาคต รวมทั้งเพื่อลดความซ้ำซ้อนของโครงสร้างการถือหุ้นและต่อยอดโอกาสเติบโตในธุรกิจพลังงาน & โครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจดิจิทัล

RELATED