หุ้นสุดยอด…หายนะ | ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ช่วงเร็ว ๆ นี้เราได้พบเห็นหุ้นที่ “เคยดีมาก” คือราคาเคยขึ้นไปอย่างรวดเร็วและสูงมาก หลายตัวขึ้นไปหลายเท่าในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหรือแค่ปีสองปี แต่แล้ว หลังจากนั้น มันก็ตกลงมาอย่างรวดเร็ว หลายตัวลดลงมา 30-40% ขึ้นไป บางตัวลดลงมาถึง 90% และราคาเหลือแค่เศษสตางค์หรือหมดค่าไปเลยภายในเวลาไม่กี่เดือนหรือแค่ 2-3 ปีคนที่ซื้อหุ้นก่อนที่ราคาจะขึ้นและขายก่อนที่มันจะตกลงมาแรง ทำกำไรได้มโหฬาร พวกเขาคงเรียกมันว่า “หุ้นสุดยอด”

คนที่สังเกตการณ์หรือนักลงทุนในตลาดหุ้นเรียกพวกเขาว่า “เซียน” ส่วนคนที่เข้าไปซื้อตอนที่หุ้นขึ้นไปสู่จุดสูงสุดและขายตอนที่หุ้นตกลงมาต่ำสุดนั้นคงเรียกว่ามันเป็น “หุ้นสุดยอดหายนะ” เพราะขาดทุนหุ้นหนัก อย่างไรก็ตาม หุ้นตัวนั้นก็ไม่ทำให้พวกเขาล้มละลายหรือต้องเลิกเล่นหุ้นไปเลย พวกเขาก็มักจะ “Move On” หรือไปหาหุ้นตัวใหม่ที่เขาคิดว่าจะทำกำไรได้รวดเร็วและขายออกไปทัน นักสังเกตการณ์บางคนเรียกพวกเขาว่า “เม่า” ที่เป็นนักเล่นหุ้นรายย่อยจำนวนมากที่ชอบเล่นหุ้นที่ขึ้น-ลงรวดเร็วที่พวกเขาจะสามารถ “ทำกำไร” ได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ

จากการสังเกตการณ์ของผมเองนั้นพบว่า หุ้นที่มีลักษณะหรืออาการดังกล่าวนั้น มักจะมาจากหุ้นอย่างน้อย 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ผมเรียกว่า “Pseudo Growth” หรือหุ้นกลุ่ม “เติบโตเทียม” กลุ่ม “Pseudo Super Stock” หรือหุ้น “ซุปเปอร์สต็อกเทียม” และกลุ่ม “Fraud” หรือกลุ่ม “หุ้นโกง” โดยที่หุ้นบางตัวนั้นก็อาจจะมีลักษณะคาบเกี่ยวกับทั้ง 3 กลุ่มได้ เช่น สร้างภาพว่าเป็นหุ้นโตเร็วแต่ในขณะเดียวกันก็มีการโกงโดยการแต่งบัญชีอย่างผิดกฎหมายหรือผิดหลักการทางบัญชีด้วย เป็นต้น

วิธีสังเกตว่าหุ้นตัวไหนอาจจะเข้าข่ายเป็นหุ้นเติบโตเทียมก็คือ ผู้บริหารมักจะมีโปรเจคใหม่มากมายเป็นสไตล์ “จ้าวโปรเจค” และสิ่งที่ทำมากที่สุดเพราะจะทำให้เห็นผลรวดเร็วก็คือ การทำ M&A หรือซื้อกิจการหรือซื้อหุ้นของบริษัทที่ทำกำไรอยู่แล้ว ซึ่งก็จะทำให้กำไรของบริษัทเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วกลายเป็น บริษัทโตเร็วหรือ “หุ้นเติบโต” ยิ่งบริษัทที่ซื้อเข้ามาอยู่ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรม “แห่งอนาคต” ภาพของบริษัทก็ยิ่งดูเติบโตเร็วมากขี้น อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ดูไฮเท็คหรือเป็นดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จจริง ๆ ก็หาซื้อได้ยากและจะต้องจ่ายราคาหุ้นที่แพงมากจนอาจจะไม่คุ้ม

ดังนั้น ธุรกิจหรือหุ้นที่ซื้อมาจึงมักจะไม่ดีและ/หรือแพงเกินไป โดยมักจะเป็นธุรกิจที่มี “กำไรดี” ในตอนที่ซื้อ แต่อนาคตก็มักจะแย่ลงเพราะกำไรนั้นไม่โตหรือไม่ยั่งยืน ตัวอย่างเช่น บริษัทลีสซิ่งหรือปล่อยกู้ส่วนบุคคลรายย่อย หรือไม่ก็เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายเล็ก เป็นต้น ในส่วนของธุรกิจใหม่แห่งอนาคต ก็อาจจะกลายเป็นการลงทุนในเหรียญคริปโตหรือการทำเหมืองขุดบิตคอยน์ในช่วงที่คริปโตกำลังให้ผลตอบแทนที่ดีมาก เป็นต้น

หนี้สินที่พอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วก็เป็นอีกอาการหนึ่งของกลุ่มหุ้นเติบโตเทียม เพราะบริษัทต้องใช้เงินจำนวนมากไปซื้อกิจการที่บางทีก็ใหญ่กว่าตัวเอง

และนี่ก็เป็น “ความเสี่ยง” ที่สำคัญที่จะทำให้บริษัทมีปัญหา เพราะบริษัทและกิจการที่ซื้อมาอาจจะประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงและกิจการขายสินค้าที่เป็นแนวโภคภัณฑ์ที่ยอดขายและกำไรผันผวนสูงมาก ทำให้ฐานะทางการเงินรองรับไม่ได้และกลายเป็นบริษัทที่มีปัญหาในที่สุดกลุ่มหุ้นซุปเปอร์สต็อกเทียมนั้น แตกต่างจากหุ้นเติบโตเทียมในแง่ที่ว่าตัวบริษัทเองมีคุณสมบัติที่อาจจะเป็นซุปเปอร์สต็อกหลายอย่าง เช่น บริษัทมีแบรนด์หรือมียี่ห้อที่โดดเด่นในสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทำให้มีความได้เปรียบในการแข่งขันในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ถึงระดับแบบซุปเปอร์สต็อกบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็น “เมกาเทรนด์”

เช่น อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการรับทำโปรแกรมเขียนระบบงานต่าง ๆ หรือให้บริการเช่นความปลอดภัยหรือการเก็บรักษาข้อมูลดิจิทัล แต่ที่จริงแล้วก็ไม่ได้มีความสามารถในการขยายตัวหรือ “ผูกขาด” ธุรกิจอะไรเมื่อเทียบกับคู่แข่ง หรือบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมและ/หรือเป็น ผู้นำ ในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพและความงาม แต่ก็มีปัญหาแบบเดียวกันที่จะต้องแข่งขันและมีข้อจำกัดในการเติบโต ซึ่งรวมถึงการที่ต้องมีบุคคลากรและสถานที่ที่ไม่ได้ขยายตัวได้ง่าย หรือพูดง่าย ๆ “Scalable” ยาก

สรุปก็คือ สิ่งที่ซุปเปอร์สต็อกเทียมขาดนั้น มักจะอยู่ที่ว่าการเติบโตในระยะยาวมีข้อจำกัดมาก เช่นเดียวกับความสามารถในการแข่งขันที่มักจะไม่แข็งแรงพอ แต่การที่ในช่วงแรกที่เห็นการเติบโตค่อนข้างโดดเด่นนั้น อาจจะมาจากสถานการณ์พิเศษที่ค่อนข้างเอื้ออำนวย หรือการที่ผลประกอบการโดดเด่น “หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์” ก็ทำให้คนเชื่อได้ง่ายว่าบริษัทเป็น “สุดยอดกิจการ” อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นไปมากและค่า PE มักจะสูงลิ่ว ก็ทำให้หุ้นไม่สามารถเป็นซุปเปอร์สต็อก แต่กลายเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกเทียมที่ทำให้หุ้นตกลงมาเป็นหายนะได้

หุ้นโกง นี่คือหุ้นที่เจ้าของและ/หรือผู้บริหารตั้งใจโกงบริษัทและนักลงทุนที่เข้ามาเล่นหุ้น หุ้นบางตัวนั้น เจ้าของและอาจจะรวมถึงนักลงทุนรายใหญ่หรือ “เซียน” วางแผนตั้งแต่แรกที่จะเข้ามาหาเงินในบริษัทและตลาดหุ้น อาจจะโดยการเทคโอเวอร์บริษัทเป้าหมายด้วยวิธีการซื้อหุ้นทั้งหมดหรือแลกหุ้นซึ่งไม่ต้องใช้เงินสด จากนั้นก็สร้างสตอรี่ ปั้นบริษัทให้เป็นหุ้นแบบเติบโตเทียม สร้างกำไรโดยการแต่งบัญชี ไซฟอนเงินจากกิจการโดยตรง ซึ่งก็มักจะทำในบริษัทลูกโดยเฉพาะกิจการที่อยู่ในต่างประเทศ เป็นการโกงเงินจากบริษัท นอกจากนั้นก็ยัง “โกงเงินจากนักลงทุนในตลาดหุ้น” โดยการสร้างราคาหุ้นและชวนนักลงทุนทั้งสถาบันและนักลงทุนส่วนบุคคลเข้าซื้อหุ้นที่ราคาแพงเพราะคิดว่าเป็นหุ้นเติบโต

การ “โกง” นั้น ถ้าจะพูดแบบกว้างก็คือ มักจะเป็น องค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่งของหุ้นที่ “ดีสุดยอดก่อนจะถึงหายนะ” เกือบทุกกลุ่ม แต่ในกรณีแบบนี้จะเป็นการโกงแบบที่ “จับไม่ได้” และอาจจะเป็นการโกงที่ “ไม่รุนแรง” แบบ “กลุ่มหุ้นโกง” ที่สุดท้ายจะถูกเปิดโปงและคนที่ทำอาจจะต้องโดนคดีอาญาแผ่นดิน ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารหรือเจ้าของ “โกง” โดยการแต่งบัญชีที่ “ไม่ผิดกฎหมาย” เช่น เปลี่ยนรายจ่ายบางอย่างให้เป็นรายการลงทุน หรือเลื่อนสถานะลูกหนี้ที่ควรจะเป็นหนี้เสียและต้องตั้งสำรองออกไป หรือบางทีก็ซื้อของจากบริษัทโดยตัวเองเพื่อสร้างรายได้และกำไรเทียม เป็นต้น

แต่จะไม่เหมือนกับการโกงดื้อ ๆ เพราะบริษัทก็จะพยายามเคลียร์ส่วนที่ “โกง” ไว้ในอนาคต โดยอาจจะค่อย ๆ เกลี่ยเงินรายได้และกำไรในอนาคตกลับคืนมาหลังจากที่หุ้น “หมดสภาพ” เป็น “หุ้นสุดยอด” และกลายเป็น “หุ้นหายนะ” ไปแล้ว ด้วยวิธีการนี้ คนที่ทำก็ “ลอยนวล” และรวยขึ้นอย่างเหลือเชื่อ สิ่งที่เสียก็เป็นเพียงชื่อเสียงที่ครั้งหนึ่งนักลงทุนคิดว่าเป็นผู้บริหารที่ “สุดยอด” ในการสร้างผลงานของบริษัท

และนั่นก็นำมาสู่ “สัญญาณ” ของหุ้นสุดยอด…หายนะ สุดท้ายที่จะพูดถึงนั่นก็คือ ผู้บริหารมักจะเป็น “คนดัง” ที่ให้สัมภาษณ์และแถลงข่าวและผลงานถี่ยิบ ไม่ว่าจะสำคัญหรือไม่ พวกเขาชอบที่จะคาดการณ์ผลประกอบการที่สดใสและการเติบโตสุดยอดที่จะตามมาในไม่ช้า พวกเขามั่นใจว่ามูลค่าหุ้นของบริษัทจะโตขึ้นเป็นหลาย ๆ เท่าในเวลาอาจจะแค่ 3-4 ปี ที่บริษัทจะมี Market Cap. เป็นหมื่นล้านบาทถ้าบริษัทยังเล็กมาก แต่บ่อยครั้งสำหรับบริษัทระดับกลางที่จะมีมูลค่าเป็นแสนล้านบาท หลายคนแสดงความมั่นใจโดยการซื้อหุ้นของบริษัทต่อเนื่องแม้ว่าราคาจะขึ้นสูงมากแล้ว

แต่ในขณะเดียวกันก็ขายหุ้นล็อตใหญ่ให้กับนักลงทุนรายใหญ่และสถาบันลงทุนที่กำลัง “อิน” มากกับ “สตอรี่” ของบริษัทและราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นต่อเนื่องและมีขนาดที่ใหญ่และสภาพคล่องในการซื้อขายที่เพียงพอสำหรับการลงทุน แต่นั่นก็มักจะเป็นสัญญาณว่า หุ้นจะไม่ขึ้นไปเร็วอีกต่อไป และอาจจะกำลังตกลงมา บางทีเป็นหายนะ

LATEST NEWS

SKR จัดทัพใหม่! ตั้ง “ปวีณา ชาญชนะโสภณ” นั่ง CFO มีผล 14 พ.ย. นี้

บมจ.ศิครินทร์ จัดทัพใหม่! บอร์ดไฟเขียวตั้ง “ปวีณา ชาญชนะโสภณ” มือทองด้านการเงิน-การบัญชีนั่งตำแหน่ง CFO แทน “เสนีย์กระจ่างศรี” มีผล 14 พฤศจิกายนนี้ ร่วมขับเคลื่อนองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน

SKR เปิดงบ 3Q/67 กวาดรายได้ 1,675 ลบ. ตั้งเป้ารายได้ทั้งปีทะลุ 6,200 ลบ. เน้นสถาบันการแพทย์เฉพาะทางโตเด่น

SKR เปิดเผยผลงาน Q3/67 รายได้รวม 1,675.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.95% จากการรักษาโรคยากซับซ้อนด้วยการผ่าตัดผ่านสถาบันการแพทย์เและศูนย์แพทย์เฉพาะทางด้านต่างๆ การเปิดให้บริการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน รวมถึงการตรวจสุขภาพผ่านโรงพยาบาลเคลื่อนที่ (Sikarin Connect) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการเดินหน้าร่วมมือสำนักงานประกันสังคมตรวจเชื้อมะเร็งปากมดลูก พร้อมเปลี่ยนวิสัยทัศน์รองรับการขับเคลื่อนองค์กรตามแนวทาง ESG เริ่มโครงการ Sustainability in service มุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

AIS ประกาศความสำเร็จขายหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน มูลค่ารวม 2.5 หมื่นล้านบาท

“บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (“บริษัท” หรือ “AIS”)  ขอขอบคุณนักลงทุนทุกท่านที่เชื่อมั่นและจองซื้อหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนที่บริษัทเสนอขายในครั้งนี้จำนวน 5 รุ่น ได้แก่ หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.54% ต่อปี หุ้นกู้อายุ 4 ปี ที่อัตราดอกเบี้ย 2.74% ต่อปี หุ้นกู้อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.76% ต่อปี หุ้นกู้อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.92% ต่อปี และหุ้นกู้อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.22% ต่อปี  โดยเปิดจองซื้อในระหว่างวันที่ 8 และ 11-12 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ด้วยอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่ระดับ AAA(tha) จาก บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี  ส่งผลให้ยอดจองซื้อหุ้นกู้เต็มจำนวนตามเป้าหมาย 25,000 ล้านบาท

RELATED