หุ้นสุดยอด…หายนะ | ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ช่วงเร็ว ๆ นี้เราได้พบเห็นหุ้นที่ “เคยดีมาก” คือราคาเคยขึ้นไปอย่างรวดเร็วและสูงมาก หลายตัวขึ้นไปหลายเท่าในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหรือแค่ปีสองปี แต่แล้ว หลังจากนั้น มันก็ตกลงมาอย่างรวดเร็ว หลายตัวลดลงมา 30-40% ขึ้นไป บางตัวลดลงมาถึง 90% และราคาเหลือแค่เศษสตางค์หรือหมดค่าไปเลยภายในเวลาไม่กี่เดือนหรือแค่ 2-3 ปีคนที่ซื้อหุ้นก่อนที่ราคาจะขึ้นและขายก่อนที่มันจะตกลงมาแรง ทำกำไรได้มโหฬาร พวกเขาคงเรียกมันว่า “หุ้นสุดยอด”

คนที่สังเกตการณ์หรือนักลงทุนในตลาดหุ้นเรียกพวกเขาว่า “เซียน” ส่วนคนที่เข้าไปซื้อตอนที่หุ้นขึ้นไปสู่จุดสูงสุดและขายตอนที่หุ้นตกลงมาต่ำสุดนั้นคงเรียกว่ามันเป็น “หุ้นสุดยอดหายนะ” เพราะขาดทุนหุ้นหนัก อย่างไรก็ตาม หุ้นตัวนั้นก็ไม่ทำให้พวกเขาล้มละลายหรือต้องเลิกเล่นหุ้นไปเลย พวกเขาก็มักจะ “Move On” หรือไปหาหุ้นตัวใหม่ที่เขาคิดว่าจะทำกำไรได้รวดเร็วและขายออกไปทัน นักสังเกตการณ์บางคนเรียกพวกเขาว่า “เม่า” ที่เป็นนักเล่นหุ้นรายย่อยจำนวนมากที่ชอบเล่นหุ้นที่ขึ้น-ลงรวดเร็วที่พวกเขาจะสามารถ “ทำกำไร” ได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ

จากการสังเกตการณ์ของผมเองนั้นพบว่า หุ้นที่มีลักษณะหรืออาการดังกล่าวนั้น มักจะมาจากหุ้นอย่างน้อย 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ผมเรียกว่า “Pseudo Growth” หรือหุ้นกลุ่ม “เติบโตเทียม” กลุ่ม “Pseudo Super Stock” หรือหุ้น “ซุปเปอร์สต็อกเทียม” และกลุ่ม “Fraud” หรือกลุ่ม “หุ้นโกง” โดยที่หุ้นบางตัวนั้นก็อาจจะมีลักษณะคาบเกี่ยวกับทั้ง 3 กลุ่มได้ เช่น สร้างภาพว่าเป็นหุ้นโตเร็วแต่ในขณะเดียวกันก็มีการโกงโดยการแต่งบัญชีอย่างผิดกฎหมายหรือผิดหลักการทางบัญชีด้วย เป็นต้น

วิธีสังเกตว่าหุ้นตัวไหนอาจจะเข้าข่ายเป็นหุ้นเติบโตเทียมก็คือ ผู้บริหารมักจะมีโปรเจคใหม่มากมายเป็นสไตล์ “จ้าวโปรเจค” และสิ่งที่ทำมากที่สุดเพราะจะทำให้เห็นผลรวดเร็วก็คือ การทำ M&A หรือซื้อกิจการหรือซื้อหุ้นของบริษัทที่ทำกำไรอยู่แล้ว ซึ่งก็จะทำให้กำไรของบริษัทเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วกลายเป็น บริษัทโตเร็วหรือ “หุ้นเติบโต” ยิ่งบริษัทที่ซื้อเข้ามาอยู่ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรม “แห่งอนาคต” ภาพของบริษัทก็ยิ่งดูเติบโตเร็วมากขี้น อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ดูไฮเท็คหรือเป็นดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จจริง ๆ ก็หาซื้อได้ยากและจะต้องจ่ายราคาหุ้นที่แพงมากจนอาจจะไม่คุ้ม

ดังนั้น ธุรกิจหรือหุ้นที่ซื้อมาจึงมักจะไม่ดีและ/หรือแพงเกินไป โดยมักจะเป็นธุรกิจที่มี “กำไรดี” ในตอนที่ซื้อ แต่อนาคตก็มักจะแย่ลงเพราะกำไรนั้นไม่โตหรือไม่ยั่งยืน ตัวอย่างเช่น บริษัทลีสซิ่งหรือปล่อยกู้ส่วนบุคคลรายย่อย หรือไม่ก็เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายเล็ก เป็นต้น ในส่วนของธุรกิจใหม่แห่งอนาคต ก็อาจจะกลายเป็นการลงทุนในเหรียญคริปโตหรือการทำเหมืองขุดบิตคอยน์ในช่วงที่คริปโตกำลังให้ผลตอบแทนที่ดีมาก เป็นต้น

หนี้สินที่พอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วก็เป็นอีกอาการหนึ่งของกลุ่มหุ้นเติบโตเทียม เพราะบริษัทต้องใช้เงินจำนวนมากไปซื้อกิจการที่บางทีก็ใหญ่กว่าตัวเอง

และนี่ก็เป็น “ความเสี่ยง” ที่สำคัญที่จะทำให้บริษัทมีปัญหา เพราะบริษัทและกิจการที่ซื้อมาอาจจะประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงและกิจการขายสินค้าที่เป็นแนวโภคภัณฑ์ที่ยอดขายและกำไรผันผวนสูงมาก ทำให้ฐานะทางการเงินรองรับไม่ได้และกลายเป็นบริษัทที่มีปัญหาในที่สุดกลุ่มหุ้นซุปเปอร์สต็อกเทียมนั้น แตกต่างจากหุ้นเติบโตเทียมในแง่ที่ว่าตัวบริษัทเองมีคุณสมบัติที่อาจจะเป็นซุปเปอร์สต็อกหลายอย่าง เช่น บริษัทมีแบรนด์หรือมียี่ห้อที่โดดเด่นในสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทำให้มีความได้เปรียบในการแข่งขันในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ถึงระดับแบบซุปเปอร์สต็อกบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็น “เมกาเทรนด์”

เช่น อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการรับทำโปรแกรมเขียนระบบงานต่าง ๆ หรือให้บริการเช่นความปลอดภัยหรือการเก็บรักษาข้อมูลดิจิทัล แต่ที่จริงแล้วก็ไม่ได้มีความสามารถในการขยายตัวหรือ “ผูกขาด” ธุรกิจอะไรเมื่อเทียบกับคู่แข่ง หรือบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมและ/หรือเป็น ผู้นำ ในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพและความงาม แต่ก็มีปัญหาแบบเดียวกันที่จะต้องแข่งขันและมีข้อจำกัดในการเติบโต ซึ่งรวมถึงการที่ต้องมีบุคคลากรและสถานที่ที่ไม่ได้ขยายตัวได้ง่าย หรือพูดง่าย ๆ “Scalable” ยาก

สรุปก็คือ สิ่งที่ซุปเปอร์สต็อกเทียมขาดนั้น มักจะอยู่ที่ว่าการเติบโตในระยะยาวมีข้อจำกัดมาก เช่นเดียวกับความสามารถในการแข่งขันที่มักจะไม่แข็งแรงพอ แต่การที่ในช่วงแรกที่เห็นการเติบโตค่อนข้างโดดเด่นนั้น อาจจะมาจากสถานการณ์พิเศษที่ค่อนข้างเอื้ออำนวย หรือการที่ผลประกอบการโดดเด่น “หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์” ก็ทำให้คนเชื่อได้ง่ายว่าบริษัทเป็น “สุดยอดกิจการ” อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นไปมากและค่า PE มักจะสูงลิ่ว ก็ทำให้หุ้นไม่สามารถเป็นซุปเปอร์สต็อก แต่กลายเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกเทียมที่ทำให้หุ้นตกลงมาเป็นหายนะได้

หุ้นโกง นี่คือหุ้นที่เจ้าของและ/หรือผู้บริหารตั้งใจโกงบริษัทและนักลงทุนที่เข้ามาเล่นหุ้น หุ้นบางตัวนั้น เจ้าของและอาจจะรวมถึงนักลงทุนรายใหญ่หรือ “เซียน” วางแผนตั้งแต่แรกที่จะเข้ามาหาเงินในบริษัทและตลาดหุ้น อาจจะโดยการเทคโอเวอร์บริษัทเป้าหมายด้วยวิธีการซื้อหุ้นทั้งหมดหรือแลกหุ้นซึ่งไม่ต้องใช้เงินสด จากนั้นก็สร้างสตอรี่ ปั้นบริษัทให้เป็นหุ้นแบบเติบโตเทียม สร้างกำไรโดยการแต่งบัญชี ไซฟอนเงินจากกิจการโดยตรง ซึ่งก็มักจะทำในบริษัทลูกโดยเฉพาะกิจการที่อยู่ในต่างประเทศ เป็นการโกงเงินจากบริษัท นอกจากนั้นก็ยัง “โกงเงินจากนักลงทุนในตลาดหุ้น” โดยการสร้างราคาหุ้นและชวนนักลงทุนทั้งสถาบันและนักลงทุนส่วนบุคคลเข้าซื้อหุ้นที่ราคาแพงเพราะคิดว่าเป็นหุ้นเติบโต

การ “โกง” นั้น ถ้าจะพูดแบบกว้างก็คือ มักจะเป็น องค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่งของหุ้นที่ “ดีสุดยอดก่อนจะถึงหายนะ” เกือบทุกกลุ่ม แต่ในกรณีแบบนี้จะเป็นการโกงแบบที่ “จับไม่ได้” และอาจจะเป็นการโกงที่ “ไม่รุนแรง” แบบ “กลุ่มหุ้นโกง” ที่สุดท้ายจะถูกเปิดโปงและคนที่ทำอาจจะต้องโดนคดีอาญาแผ่นดิน ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารหรือเจ้าของ “โกง” โดยการแต่งบัญชีที่ “ไม่ผิดกฎหมาย” เช่น เปลี่ยนรายจ่ายบางอย่างให้เป็นรายการลงทุน หรือเลื่อนสถานะลูกหนี้ที่ควรจะเป็นหนี้เสียและต้องตั้งสำรองออกไป หรือบางทีก็ซื้อของจากบริษัทโดยตัวเองเพื่อสร้างรายได้และกำไรเทียม เป็นต้น

แต่จะไม่เหมือนกับการโกงดื้อ ๆ เพราะบริษัทก็จะพยายามเคลียร์ส่วนที่ “โกง” ไว้ในอนาคต โดยอาจจะค่อย ๆ เกลี่ยเงินรายได้และกำไรในอนาคตกลับคืนมาหลังจากที่หุ้น “หมดสภาพ” เป็น “หุ้นสุดยอด” และกลายเป็น “หุ้นหายนะ” ไปแล้ว ด้วยวิธีการนี้ คนที่ทำก็ “ลอยนวล” และรวยขึ้นอย่างเหลือเชื่อ สิ่งที่เสียก็เป็นเพียงชื่อเสียงที่ครั้งหนึ่งนักลงทุนคิดว่าเป็นผู้บริหารที่ “สุดยอด” ในการสร้างผลงานของบริษัท

และนั่นก็นำมาสู่ “สัญญาณ” ของหุ้นสุดยอด…หายนะ สุดท้ายที่จะพูดถึงนั่นก็คือ ผู้บริหารมักจะเป็น “คนดัง” ที่ให้สัมภาษณ์และแถลงข่าวและผลงานถี่ยิบ ไม่ว่าจะสำคัญหรือไม่ พวกเขาชอบที่จะคาดการณ์ผลประกอบการที่สดใสและการเติบโตสุดยอดที่จะตามมาในไม่ช้า พวกเขามั่นใจว่ามูลค่าหุ้นของบริษัทจะโตขึ้นเป็นหลาย ๆ เท่าในเวลาอาจจะแค่ 3-4 ปี ที่บริษัทจะมี Market Cap. เป็นหมื่นล้านบาทถ้าบริษัทยังเล็กมาก แต่บ่อยครั้งสำหรับบริษัทระดับกลางที่จะมีมูลค่าเป็นแสนล้านบาท หลายคนแสดงความมั่นใจโดยการซื้อหุ้นของบริษัทต่อเนื่องแม้ว่าราคาจะขึ้นสูงมากแล้ว

แต่ในขณะเดียวกันก็ขายหุ้นล็อตใหญ่ให้กับนักลงทุนรายใหญ่และสถาบันลงทุนที่กำลัง “อิน” มากกับ “สตอรี่” ของบริษัทและราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นต่อเนื่องและมีขนาดที่ใหญ่และสภาพคล่องในการซื้อขายที่เพียงพอสำหรับการลงทุน แต่นั่นก็มักจะเป็นสัญญาณว่า หุ้นจะไม่ขึ้นไปเร็วอีกต่อไป และอาจจะกำลังตกลงมา บางทีเป็นหายนะ

LATEST NEWS

“Smarthome” สมาร์ทโฮมยืนหนึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับทุกครอบครัว

เมื่อพูดถึงแแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เชื่อว่าใครหลายๆ คน คงจะนึกถึงแบรนด์ “Smarthome” เป็น 1 ในคำตอบในใจอย่างแน่นอน ด้วยจุดเด่นของสินค้าที่แข็งแรง ทนทาน ดีไซน์ทันสมัยและราคาที่สามารถเข้าถึงได้ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับแบรนด์ “Smarthome” กันให้มากยิ่งขึ้น

บิ๊กดีลสะเทือนวงการ! กรุงศรีฟินโนเวตจับมืออีฟราสตรัคเจอร์ เปิดฉากลงทุนมหาศาลปั้นกองทุนใหม่หนุนสตาร์ทอัพรายเล็กก้าวกระโดด พร้อมเปิด Accelerator ติดอาวุธเร่งสปีดสร้างการเติบโต

กรุงศรี ฟินโนเวต ร่วมกับ อีฟราสตรัคเจอร์ (Efra Structure) ของ ป้อม ภาวุธ ผู้บุกเบิกและคร่ำหวอดในวงการอีคอมเมิร์ซไทย เตรียมปั้นกองทุนยักษ์ “ฟินโน อีฟรา ไพรเวท อิควิตตี้ ทรัสต์” (Finno Efra Private Equity Trust) มุ่งลงทุนในสตาร์ทอัพไทยและอาเซียน งบประมาณมหาศาลกว่า 1,300 ล้านบาท (หรือกว่า 35 ล้านเหรียญสหรัฐ) ภายในระยะเวลา 4 ปี เผยเริ่มพูดคุยกับสตาร์ทอัพที่น่าสนใจแล้วราว 5-6 บริษัท พ่วงด้วยการเปิด Accelerator Program อย่างเป็นทางการ เพื่อปั้นสตาร์ทอัพระดับ Seed ถึง Pre-series A ให้เติบโตสู่ระดับ Series A ได้อย่างแข็งแกร่ง

SCB CIO มองตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน เมื่อเข้าสู่โค้งสุดท้ายเลือกตั้งสหรัฐฯ พอร์ตหลักแนะหุ้นกลุ่มเทคฯ-สุขภาพ- สาธารณูปโภค-ทองคำ ส่วนพอร์ตเสริมสะสมเวียดนาม

SCB CIO มองตลาดหุ้นโลกจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากสถิติชี้ว่า ดัชนี VIX  จะเร่งตัวขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วง 4 เดือนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ขณะที่สถิติในอดีตบ่งชี้ดัชนี S&P500 มีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงเดือนส.ค.- ก.ย. แนะกลยุทธ์ลงทุนในตลาดหุ้นเลือกหุ้นคุณภาพดีเติบโตสูงงบแข็งแกร่งยอดขายกำไรเติบโตยั่งยืนเช่นกลุ่มเทคโนโลยีพร้อมผสมผสานกับหุ้นกลุ่มที่มีความทนทานต่อภาวะตลาดผันผวนเช่นกลุ่มสาธารณูปโภค  สุขภาพและสินค้าจำเป็น พร้อมระวังลงทุนในหุ้นกลุ่มขนาดเล็กจากกำไรของกิจการของหุ้นขนาดเล็กค่อนข้างผันผวนและอิงกับเศรษฐกิจสหรัฐฯเป็นหลักซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วงของการชะลอตัวลง สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง-สูง แนะลงทุนหุ้นเวียดนามจากดัชนีฯที่ได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง

RELATED