หอการค้าฯ ดัน 4 เรื่องเร่งด่วนแก้ปัญหาแรงงาน ฟื้นเศรษฐกิจ หนุนขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมหารือกับ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน และคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสถานการณ์แรงงาน รวมถึงเสนอแนวทางเร่งด่วนในการแก้ปัญหาเรื่องแรงงานไทย เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวว่า การหารือกับหอการค้าไทยในวันนี้ เพื่อเป็นการรับฟังข้อมูล และข้อเสนอแนะด้านแรงงานในไทย เพื่อนำไปวิเคราะห์และพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย จะจัดทำ MOU ร่วมกัน 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับและพัฒนาเยาวชนไทย ให้เป็นแรงงานฝีมือที่มีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน เห็นด้วยกับข้อเสนอหอการค้าไทย ที่มีการพิจารณาแนวทางการจ้างงานรายชั่วโมง เฉพาะในบางธุรกิจที่สามารถดำเนินการได้ การสนับสนุนแรงงานภาคการท่องเที่ยวให้เพียงพอ และสอดคล้องกับการเติบโตของการท่องเที่ยวของประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาฝีมือแรงงานไทย ส่งออกไปยังต่างประเทศเพื่อนำเงินตราเข้ามาสู่ประเทศ

ส่วนข้อกังวลของภาคเอกชนในฐานะนายจ้าง ต่อเรื่องการขึ้นค่าแรง 600 บาท ภายในปี 70 ตามนโยบายของรัฐบาล จำเป็นต้องมีการปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อกำหนดแนวทางความเหมาะสมในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวต่อไป

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการหารือว่า ที่ผ่านมาภาคแรงงานในไทย เผชิญความท้าทายหลายด้าน ทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในภาคการผลิตและอุตสาหกรรม ที่เป็นปัญหามายาวนาน และรุนแรงขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทยในภาคบริการ และอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขึ้นสูง ซึ่งยังไม่สอดคล้องกับผลิตภาพของแรงงานไทย ที่ยังต้องเร่งยกระดับทักษะและความรู้ให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ทิศทางนโยบายการปรับอัตราตอบแทนค่าจ้าง หรือค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาล ที่จำเป็นต้องมีการหารือกับภาคเอกชนเพื่อไม่ให้กระทบต่อความสามารถของผู้ประกอบการ และมีความเหมาะสมกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน เหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน ที่ภาครัฐและเอกชนจะต้องสร้างความร่วมมือ และทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต

“วันนี้ หอการค้าฯ ต้องขอขอบคุณรมว.แรงงานท่านใหม่ ที่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว และเดินหน้าพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกับหอการค้าฯ ทันทีหลังจากเข้ารับตำแหน่ง เนื่องจากปัญหาด้านแรงงานมีความซับซ้อน และต้องอาศัยหลายหน่วยงานในการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อให้มาตรการ และแนวทางต่างๆ ที่ออกมาสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เพราะต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาแรงงานถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง” นายสนั่น กล่าว

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวจากนโยบายการเปิดประเทศ หลังการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ถึงแม้จะกำลังเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และการส่งออกสินค้าของไทย แต่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตจากรายได้ ปี 66 คาดการณ์ว่าจะมีรายได้ 2.38 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจเอกชนยังประสบปัญหาหลายด้าน อาทิ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ภาคธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และผู้ประกอบการ SMEs เพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงเสนอนโยบายเร่งด่วนด้านแรงงานของประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ดังนี้

  1. นโยบายการปรับอัตราตอบแทนค่าจ้างหรือค่าจ้างขั้นต่ำ โดยภาคธุรกิจเอกชนเห็นด้วยกับการปรับอัตราค่าตอบแทนให้เป็นไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยใช้กลไกการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) และใช้หลักเกณฑ์การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างตามมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
  2. นโยบายแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทย ควรกำหนดทิศทางของประเทศไทยในการเจริญเติบโตของภาคธุรกิจ เพื่อผลิตกำลังคนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมทั้งบูรณาการหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อจัดทำข้อมูลฐานแรงงานของประเทศไทย (Big Data) และสนับสนุนนโยบายกองทุนเพื่อการปรับปรุงเครื่องจักรและองค์ความรู้ (Knowhow) สำหรับผู้ประกอบการ
  3. นโยบายการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ควรมีการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนงานนำเข้าแรงงานต่างด้าวระยะยาว พร้อมทั้ง จัดระเบียบการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวระบบใหม่ ผ่านศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน (OSS) ลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ ค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา VISA แรงงานต่างด้าว และกำหนดค่าธรรมเนียมการจัดหางาน (Recruitment Fee) ให้ชัดเจน เป็นต้น
  4. นโยบายเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ควรเพิ่มศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมทั้งขยายมาตรฐานฝีมือแรงงาน (จำนวน 272 สาขา) และอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (จำนวน 129 สาขา) ให้ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ และสอดรับกับอัตราตอบแทนค่าจ้าง และส่งเสริมนโยบาย “คูปองฝึกทักษะ Re-Skill & Up-Skill” เพื่อให้สามารถไปรับการฝึกทักษะที่ต้องการได้จากผู้ให้บริการฝึกอบรมที่มีคุณภาพ

“เป้าหมายที่ภาคเอกชนอยากเห็นจากรัฐบาล โดยกระทรวงแรงงาน ภายในปี 67 ได้แก่ 1. อัดฉีดงบประมาณและกำลังคนให้กระทรวงแรงงาน 2. คณะกรรมการไตรภาคี ต้องปรับโครงสร้างและบูรณาการการทำงานที่สร้างสรรค์ และพัฒนาแรงงานของประเทศไทย และ 3. ยกระดับงานประกันสังคม เพื่อสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทย” นายพจน์ กล่าว

LATEST NEWS

SKR จัดทัพใหม่! ตั้ง “ปวีณา ชาญชนะโสภณ” นั่ง CFO มีผล 14 พ.ย. นี้

บมจ.ศิครินทร์ จัดทัพใหม่! บอร์ดไฟเขียวตั้ง “ปวีณา ชาญชนะโสภณ” มือทองด้านการเงิน-การบัญชีนั่งตำแหน่ง CFO แทน “เสนีย์กระจ่างศรี” มีผล 14 พฤศจิกายนนี้ ร่วมขับเคลื่อนองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน

SKR เปิดงบ 3Q/67 กวาดรายได้ 1,675 ลบ. ตั้งเป้ารายได้ทั้งปีทะลุ 6,200 ลบ. เน้นสถาบันการแพทย์เฉพาะทางโตเด่น

SKR เปิดเผยผลงาน Q3/67 รายได้รวม 1,675.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.95% จากการรักษาโรคยากซับซ้อนด้วยการผ่าตัดผ่านสถาบันการแพทย์เและศูนย์แพทย์เฉพาะทางด้านต่างๆ การเปิดให้บริการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน รวมถึงการตรวจสุขภาพผ่านโรงพยาบาลเคลื่อนที่ (Sikarin Connect) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการเดินหน้าร่วมมือสำนักงานประกันสังคมตรวจเชื้อมะเร็งปากมดลูก พร้อมเปลี่ยนวิสัยทัศน์รองรับการขับเคลื่อนองค์กรตามแนวทาง ESG เริ่มโครงการ Sustainability in service มุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

AIS ประกาศความสำเร็จขายหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน มูลค่ารวม 2.5 หมื่นล้านบาท

“บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (“บริษัท” หรือ “AIS”)  ขอขอบคุณนักลงทุนทุกท่านที่เชื่อมั่นและจองซื้อหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนที่บริษัทเสนอขายในครั้งนี้จำนวน 5 รุ่น ได้แก่ หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.54% ต่อปี หุ้นกู้อายุ 4 ปี ที่อัตราดอกเบี้ย 2.74% ต่อปี หุ้นกู้อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.76% ต่อปี หุ้นกู้อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.92% ต่อปี และหุ้นกู้อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.22% ต่อปี  โดยเปิดจองซื้อในระหว่างวันที่ 8 และ 11-12 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ด้วยอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่ระดับ AAA(tha) จาก บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี  ส่งผลให้ยอดจองซื้อหุ้นกู้เต็มจำนวนตามเป้าหมาย 25,000 ล้านบาท

RELATED