THREL กางแผนปี 2567 เดินหน้ากลยุทธ์ “ซ่อม–สร้าง” ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยต่อรับโตต่อเนื่อง 4-5% ล่าสุดบอร์ดไฟเขียวจ่ายเงินปันผลอัตรา 0.086 บาท/หุ้นหลังปิดผลงานปี 2566 กำไรสุทธิ 62 ล้านบาทกวาดเบี้ยประกันภัยต่อรับโต 17% แตะ 3,455 ล้านบาทตามการเติบโตงานประกันสุขภาพทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม
นาย วิพล วรเสาหฤท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยรีประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ THREL เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2567 มีสัญญาณการเติบโตดีขึ้นเมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา ขณะที่ผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันชีวิต นับจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ค่ารักษาพยาบาลขยับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ภาพรวมอุตสาหกรรมประกันชีวิตเติบโตสดใส ซึ่งล่าสุดบริษัทได้เร่งเดินหน้าขยายโอกาสต่อยอดธุรกิจ ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ “ซ่อม-สร้าง”ปักธงเบี้ยประกันภัยต่อรับเติบโต 4-5% จากปี 2566 ที่ทำได้ 3,455 ล้านบาท
โดยกลยุทธ์ “สร้าง” จะเน้นธุรกิจที่มีโอกาสต่อยอดการเติบโต โดยเฉพาะประกันสุขภาพรายบุคคลที่มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นตามภาพรวมอุตสาหกรรม ขณะที่กลยุทธ์ด้าน “ซ่อม” จะเน้นดูแลรักษาคุณภาพการรับงานใหม่ๆ เพื่อคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพสูงสุดอย่างต่อเนื่อง โดยฉพาะงานด้านประกันสุขภาพกลุ่ม ที่ส่วนใหญ่จะได้รับผลโดยตรงจากการปรับขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาล (Medical Cost Inflation) โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 ที่มีการขยับขึ้นสูงกว่า 10% เทียบจากช่วงสถานการณ์ปกติมีการปรับขึ้นเฉลี่ยราว 5-7% ต่อปี ซึ่งขณะนี้บริษัทได้ดำเนินการทบทวนราคาค่าเบี้ยประกันสุขภาพสำหรับการต่ออายุสัญญาให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว
นายวิพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เมื่อวันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลงวดปี 2566 อัตรา 0.086 บาท/หุ้น คิดเป็นวงเงินรวม 52.46 ล้าน หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 84.6% ของกำไรสุทธิ ซึ่งสูงกว่าขั้นต่ำของนโยบายจ่ายเงินปันผลที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ หลังภาพรวมผลงานปี 2566 ยังคงเติบโตดี โดยในปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 62 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยต่อรับเติบโต 17% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แตะ 3,455 ล้านบาท ตามการเติบโตของงานประกันสุขภาพ ทั้งแบบรายบุคคลและรายกลุ่ม โดยเบี้ยประกันภัยต่อที่ถือเป็นรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 14% แตะ 3,301 ล้านบาท
ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยรวมอยู่ที่ 3,305 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 18% ตามการเติบโตของเบี้ยประกันต่อรับรวม และเป็นผลจากค่าสินไหมทดแทนที่เพิ่มขึ้นราว 370 ล้านบาท อยู่ที่ 2,386 ล้านบาท สาเหตุสำคัญมาจากจำนวนการเข้ารักษาพยาบาลสะสม และอัตราค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 1/2566 รวมถึงค่าบำเหน็จสุทธิเพิ่มขึ้นราว 17% อยู่ที่ 753 ล้านบาท
ส่งผลให้ Combined Ratio (COR) อยู่ที่ระดับ 99.9% แต่อย่างไรก็ตามหากไม่รวมผลประกอบการในไตรมาส 1/2566 ที่ค่าสินไหมสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอันเป็นผลจากปี 2565 Combined Ratio จะอยู่ที่ระดับ 97.7% ซึ่งล่าสุดบริษัทได้ดำเนินการทบทวนราคาค่าเบี้ยประกันสุขภาพสำหรับการต่ออายุสัญญาให้เหมาะสม เพื่อให้อัตราค่าสินไหมทดแทนต่อเบี้ย (Loss ratio) และอัตราค่าใช้จ่ายรวม (Combined ratio) กลับเข้าสู่เกณฑ์เป้าหมายแล้ว
“บริษัทฯยังคงมุ่งเน้นประสิทธิภาพการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย และคุมเข้มความเสี่ยงในการรับงาน เพื่อควบคุมอัตราค่าสินไหมทดแทนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ภายใต้การเดินหน้ามองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อต่อยอดการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในระยะยาว มั่นใจรักษาระดับ Combined Ratio เฉลี่ยต่อปีไว้ที่ 95-96% ได้ภายในปี 2570” นายวิพลกล่าว