นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณว่าจะยังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้คาดว่าเงินดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น อย่างน้อยไปจนถึงช่วงที่ Fed ยังปรับขึ้นดอกเบี้ยอยู่ แต่หลังจาก Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย ซึ่ง SCB CIO คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค. และทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด (Terminal Rate) ของสหรัฐปีนี้ ไปอยู่ที่ 5.25% อาจจะได้เห็นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ กลับทิศทางเป็นอ่อนค่าลงอีกครั้ง ในระยะกลางถึงระยะยาว โดยคาดว่ามากกว่า 6 เดือน
ทั้งนี้ การที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในระยะสั้น เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงในระยะสั้น ขณะที่อีกปัจจัยหนึ่งเป็นผลจากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังเกินดุลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งโดยปกติดุลบัญชีเดินสะพัดมีความสัมพันธ์ (Correlation) ที่มักจะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินบาท คือ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล เงินบาทแข็งค่า ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล เงินบาทจะอ่อนค่า
อย่างไรก็ตาม ในระยะกลาง-ยาว ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย มีแนวโน้มที่จะเกินดุลมากกว่านี้ จากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากจีนเปิดประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวจีนกลับเข้ามาเที่ยวไทยรวดเร็วขึ้น ส่งผลให้สำนักวิจัยต่างๆ ปรับเพิ่มประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อเนื่อง เช่น SCB EIC ล่าสุดปรับประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2566 เพิ่มเป็น 30 ล้านคน จากเดิม 28.3 ล้านคน และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาอยู่ที่ระดับก่อนเกิดโควิดในช่วงปลายปี 2567 ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทกลับมาแข็งค่ามากขึ้น ซึ่ง SCB CIO คาดการณ์ว่า สิ้นปี 2566 เงินบาทน่าจะอยู่ที่ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
“ในช่วงเวลานี้เงินดอลลาร์สหรัฐ ยังแข็งค่าและกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าระยะสั้น SCB CIO มองว่าหากเงินบาทอ่อนค่าไม่เกิน 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ยังเป็นจังหวะที่ดีในการแลกเงินบาทเป็นดอลลาร์สหรัฐ สำหรับลงทุนในต่างประเทศด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรับผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปสกุลเงินดอลลาร์ที่น่าสนใจกว่าการลงทุนในประเทศเพียงอย่างเดียว โดยจากข้อมูลอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งถูกยกให้เป็นอัตราผลตอบแทนที่ปราศจากความเสี่ยง (risk free rate) ในเดือน ก.พ. 2566 สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลไทยมากพอสมควร โดยเฉพาะพันธบัตรอายุ 1 เดือน-1 ปี ของสหรัฐ ที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 4-5% ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลไทยช่วงอายุเดียวกัน ให้ผลตอบแทนในระดับที่ต่ำกว่า 2% เท่านั้น”
ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ มีผลิตภัณฑ์การลงทุนหลากหลายรูปแบบที่รองรับความต้องการของนักลงทุนที่สนใจลงทุนด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในจังหวะที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า โดยผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจมี 4 ประเภท ได้แก่ 1. บัญชีเงินฝากออมทรัพย์เงินดอลลาร์ (Foreign Currency Deposit : FCD) คือบัญชีเงินฝากสำหรับบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่ต้องการฝากเงินในรูปแบบเงินตราต่างประเทศ เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐ ยูโรดอลลาร์ หรือสกุลเงินต่างประเทศอื่น โดยกรณีฝากเงินดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยในรูปสกุลเงินดอลลาร์ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนต่างประเทศหรือเก็บเงินตราต่างประเทศไว้รอลงทุน
2. หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำและผลตอบแทนสูงสุดที่จะได้รับเอาไว้ หรือ Capped Floored Floater ที่เป็นสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐ โดยจะอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมระยะข้ามคืนที่ใช้พันธบัตรรัฐบาลวางเป็นหลักประกัน (SOFR) โดยจะนำอัตราดอกเบี้ย SOFR แต่ละวันในงวดวันพิจารณาอัตราดอกเบี้ย มาคำนวณหาค่าเฉลี่ยด้วยวิธีคิดทบต้น หรือ Compound Average กรณีที่ SOFR เฉลี่ยในรอบ 3 เดือน เท่ากับหรือมากกว่า 4.0% ตราสารจะให้ผลตอบแทนที่ 4.0% กรณีที่ SOFR เคลื่อนไหวในกรอบ 3.75% ถึง 4.0% จะให้ผลตอบแทนเท่ากับดอกเบี้ย SOFR เฉลี่ย แต่หาก SOFR อยู่ต่ำกว่า 3.75% ตราสารจะให้ผลตอบแทนขั้นต่ำที่ 3.75% ในรอบระยะเวลา 3 เดือน ผลิตภัณฑ์นี้จะจ่ายเงินต้นและผลตอบแทนในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีกรอบของผลตอบแทนที่น่าสนใจ
3. หุ้นกู้อนุพันธ์แฝง ที่ใช้บริหารจัดการความประสงค์จะใช้สกุลเงินต่างประเทศในอนาคต (Dual Currency Investment : DCI) เป็นหุ้นกู้อนุพันธ์แฝงอีกประเภท ที่มีอายุตราสารระยะสั้น เช่น 1 เดือน โดยจะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเป้าหมายเอาไว้ล่วงหน้า กรณีที่ลงทุนจนครบอายุแล้ว อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามที่ตกลงไว้ เช่น เงินบาทแข็งค่า อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามที่ตกลงไว้ ก็จะแปลงหุ้นกู้นั้นเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐตามอัตราที่ตกลงไว้ แต่หากเงินบาทอ่อนค่ากว่าอัตราแลกเปลี่ยนเป้าหมาย ก็จะได้รับเงินคืนเป็นเงินต้นสกุลเงินบาทพร้อมผลตอบแทน จึงเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่แล้ว
4.กองทุนรวมที่ไปลงทุนสินทรัพย์ในต่างประเทศโดยไม่ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ตราสารหนี้ระยะสั้นต่างประเทศ (SCBFST) ที่ไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ โดยไม่ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้นักลงทุนได้ประโยชน์จากอัตราผลตอบแทน (Yield) ของพอร์ตลงทุน และส่วนต่างจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งกองทุนนี้มีความเสี่ยงระดับ 4 คือ เสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ